วันที่ 19 กันยายน 2567 เวลา 13:49 น.
กรมการขนส่งทางบก แนะนำเทคนิคขับขี่ปลอดภัยช่วงหน้าฝน ตรวจสอบเส้นทางและสภาพอากาศก่อนเดินทาง เลี่ยงเส้นทางที่มีน้ำท่วมสูง หลังขับรถลุยน้ำ ตรวจสภาพรถด้วยตนเอง หรือนำเข้าศูนย์ฯ เพื่อความปลอดภัย
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักและอาจเกิดน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่ เบื้องต้นผู้ขับขี่ควรติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีน้ำท่วมสูงหรือสามารถนำรถไปจอดในสถานที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที ทั้งนี้ สำหรับผู้ขับขี่ที่จำเป็นต้องขับรถในพื้นที่น้ำท่วมสูง กรมการขนส่งทางบกมีข้อแนะนำ ดังนี้
1. ผู้ขับขี่ควรประเมินความสูงของระดับน้ำก่อนตัดสินใจเลือกใช้เส้นทาง เพื่อความปลอดภัยและลดการเกิดความเสียหายต่อรถยนต์ โดยระดับน้ำตั้งแต่ 40 – 60 เซนติเมตรขึ้นไป เป็นระดับน้ำที่รถยนต์ขนาดเล็ก ควรหลีกเลี่ยง ในขณะที่รถกระบะหรือรถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีความสูงยังสามารถขับผ่านไปได้แต่แนะนำ ให้ปิดแอร์ขณะขับเพื่อป้องกันพัดลมแอร์หน้ารถดูดละอองน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์ดับ กรณีระดับน้ำท่วมต่ำกว่า 40 เซนติเมตร หรือไม่เกินครึ่งล้อรถ รถทุกชนิดยังสามารถขับผ่านไปได้ แต่ควรขับขี่ให้ช้าลง ลดการเกิดคลื่นน้ำซัดเข้าหารถ เพื่อลดความเสี่ยงที่น้ำจะกระจายเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์
2. รักษาระยะห่างจากรถคันอื่น เนื่องจากระบบเบรกที่แช่น้ำนาน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จึงต้องเพิ่มระยะห่างให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย
3. ลดความเร็วและรักษาความเร็วให้คงที่
4. ใช้เกียร์ต่ำ เพื่อประคองเครื่องยนต์ไม่ให้ดับ หากเป็นรถยนต์เกียร์ออโต้ให้ใช้เกียร์ L
5. เมื่อขับพ้นน้ำท่วม เหยียบเบรกย้ำๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
6. เมื่อถึงที่หมายอย่าเพิ่งดับเครื่อง ให้ติดเครื่องยนต์ไว้สักพัก เพื่อไล่น้ำที่ค้างอยู่ตามเครื่องยนต์
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV หากต้องขับรถ ในพื้นที่น้ำท่วม ควรประเมินสถานการณ์ก่อน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจะมีแบตเตอรี่ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ อยู่ด้านล่างตัวถังออกแบบให้ป้องกันน้ำเข้าเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าภายในรถ หากระดับน้ำสูงไม่เกินครึ่งล้อรถ ที่ประมาณระดับ 40 เซนติเมตร สามารถขับผ่านได้ แต่ถ้าระดับน้ำสูงเกินขอบประตูรถยนต์ มีความเสี่ยงสูง ไม่ควรขับต่อ ในกรณีเจอน้ำท่วมเป็นทางยาวควรเปลี่ยนเส้นทาง ไม่ควรขับลุยน้ำเกิน 30 นาที เสี่ยงน้ำเข้าระบบแบตเตอรี่ ในส่วนของรถจักรยานยนต์ ให้ประเมินระดับน้ำที่สามารถขี่ผ่านได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะอยู่ไม่เกินกรองอากาศหรือกึ่งกลางล้อ หรือเช็กระดับน้ำจากรถคันหน้าว่าลึกระดับที่พอผ่านไปได้ หรือใช้ความเร็วต่ำ ระวังแรงดันน้ำอาจทำให้ผู้ขับขี่ เสียการทรงตัวและไม่ทันมองเห็นลักษณะเส้นทาง เช่น ลูกระนาด หลุมบ่อ ระหว่างขับขี่ให้เว้นระยะห่างกับรถคันอื่นมากกว่าปกติ และควรกดเบรกย้ำๆ ตลอดเวลา เพื่อช่วยรีดน้ำออกและเพื่อป้องกันอาการเบรกติด และเบรกลื่น ข้อแนะนำหลังขี่จักรยานยนต์ลุยน้ำ ติดเครื่องไว้สักพักเมื่อขับพ้นน้ำท่วม เพื่อไล่ไอน้ำและความชื้นออก และตรวจเช็กความชื้นระบบภายในเครื่องยนต์ หากมีน้ำขังให้รีบซ่อมบำรุง โดยเฉพาะชุดกรองอากาศหากรถจักรยานยนต์ดับกลางทางไม่ควรสตาร์ท เพราะน้ำอาจจะเข้าสู่ห้องเครื่องแล้ว ยิ่งสตาร์ทยิ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ควรเข็นเข้าที่แห้งและนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด
ทั้งนี้ แนะนำให้ตรวจเช็กสภาพรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หลังขับผ่านบริเวณน้ำท่วมขัง โดยอาจตรวจประเมินเบื้องต้นด้วยตนเองหรือนำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อความปลอดภัยและมั่นใจในการใช้งาน ก่อนการเดินทางควรตรวจสอบเส้นทางและสภาพอากาศ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงฝนตก
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์