หน้าแรก > สังคม

กรมควบคุมโรค อนุมัติงบ 21 ล้านบาท ซื้อวัคซีน ฝีดาษลิง 3,000 โดส เร่งฉีด 3 กลุ่มเสี่ยง

วันที่ 7 กันยายน 2567 เวลา 08:14 น.


7 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคประชุมแนวทางใช้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร (Mpox) ในประเทศไทย ว่า โรคฝีดาษวานรมีอัตราการแพร่ระบาดต่ำ การแพร่โรคไม่สูง ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันจริง ๆ อาการของโรคไม่มีไอ ไม่มีน้ำมูก โอกาสจะระบาดใหญ่ หรือระบาดมาก เราประเมินแล้วไม่สูง

ในส่วนของวัคซีนมีความจำเป็นหรือไม่นั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการควบคุมโรค แต่เนื่องจากวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ทางกรมควบคุมโรคจึงใช้ มาตรา 13(5) เพื่อการควบคุมโรค ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ.2510 จะมีการใช้งบประมาณ กรมควบคุมโรค วงเงิน 21 ล้านบาท เพื่อการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว รวม 3,000 โดส เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่มคือ

1. บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดโรค อาทิ ไปสัมผัสเสี่ยงสูง คือสัมผัสคนติดเชื้อ

2.กลุ่มไปสัมผัสโรค เสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ก็จะฉีดภายใน 4 วัน

3.มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อ เช่น คนในครอบครัวที่ติดเชื้อ ส่วนอีกกลุ่มที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคนั้น อาจจะต้องฉีดโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งปัจจุบันมีที่สภากาชาด

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า จากนี้จะต้องทำเรื่องให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดซื้อต่อไป ทั้งนี้หลังดำเนินการสั่งซื้อแล้วต้องรออีกประมาณ 4 เดือน ถึงจะมีวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศ

"การฉีดไม่ใช่ฉีดทั่วไป เพราะอัตราระบาดต่ำ ไม่มีการระบาดทั่วไปในคนไทย แต่พบผู้ป่วยในกลุ่มเฉพาะ เช่น ที่พบมากตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยในไทยมาตั้งแต่ปี 2565 คือ ผู้ขายบริการทางเพศ ชายรักษา รวม 833 ราย  ส่วนคนเสียชีวิต คือผู้ป่วยเอชไอวีด้วย รวมแล้วเสียชีวิตสะสม 13 ราย ที่เป็นสายพันธุ์เคลด 2 ปีที่แล้วพบป่วย 673 ราย แต่ปีนี้พบป่วยลดลง เหลือ 146 ราย ในกลุ่มเดิมๆ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่มีการแพร่กระจาย ดังนั้นความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนต่ำมาก จึงฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น"

"สำหรับสายพันธุ์ เคลด 1บี ที่มีผู้ติดเชื้อรายแรกนั้น รักษาหายแล้ว ขณะที่คนใกล้ชิด 43 คน ก็ครบกำหนดติดตามแล้ว ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม แปลว่า ไม่มีการระบาด หรือติดเชื้อในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาแน่ๆ"
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม