หน้าแรก > สังคม

สทนช.เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระหว่าง 3-9 ก.ย.นี้

วันที่ 2 กันยายน 2567 เวลา 10:01 น.


สทนช.เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระหว่าง 3-9 ก.ย.นี้ ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมอพยพ

2 กันยายน 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 3-9 กันยายน 2567 เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

จากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณีพบว่า แม่น้ำสายหลัก 5 สายและลำน้ำสาขาต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำได้แก่

-แม่น้ำยม บริเวณอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
-แม่น้ำแควน้อย บริเวณอำเภอนครไทยและวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
-แม่น้ำจันทบุรี บริเวณอำเภอเมืองจันทบุรีและมะขาม จังหวัดจันทบุรี
-แม่น้ำตราด บริเวณอำเภอเมืองตราด เขาสมิง และบ่อไร่ จังหวัดตราด
-แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งจะมีน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำหลากที่เพิ่มขึ้น โดยส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน ดังนี้
ภาคเหนือได้แก่

-จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง)
-จังหวัดสุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และกงไกรลาศ)
-จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ฟากท่า น้ำปาด และตรอน)
-จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย วัดโบสถ์ วังทอง และเนินมะปราง)
-จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หนองไผ่ หล่มเก่า และหล่มสัก)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่

-จังหวัดเลย (อำเภอนาแห้ว เชียงคาน ด่านซ้าย และปากชม)
-จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย และโพธิ์ตาก)
-จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา และบึงโขงหลง)
-จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ตาลสุม น้ำยืน พิบูลมังสาหาร และน้ำขุ่น)

ภาคตะวันออกได้แก่

-จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก ปากพลี และบ้านนา)
-จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม นาดี และกบินทร์บุรี)
-จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี บางละมุง และศรีราชา)
-จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง บ้านค่าย ปลวกแดง และนิคมพัฒนา)
-จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ และมะขาม)
-จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เขาสมิง แหลมงอบ คลองใหญ่ และเกาะกูด)

ภาคใต้ได้แก่

-จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะ และสวี)
-จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ)
-จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง)
-จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
-จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี คีรีรัฐนิคม พุนพิน พระแสง และเวียงสระ)
-จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เชียรใหญ่ ลานสกา ถ้ำพรรณรา และทุ่งใหญ่)
-จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง สิเกา ย่านตาขาว กันตัง ห้วยยอด รัษฎา และวังวิเศษ)
-จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน กงหรา ศรีนครินทร์ และควนขนุน)
-จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า และมะนัง)

สทนช. ยังแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี ตรัง และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักซึ่งเสี่ยงที่น้ำจะล้นอ่างเก็บน้ำและส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและพนังกั้นน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และคำนึงถึงอิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล
4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้าแก่ประชาชนที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบเพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์


 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม