หน้าแรก > ภูมิภาค

มท.1 ติดตามเหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่ม ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เสี่ยงชีวิต ล่าสุดค้นพบและนำร่างผู้ประสบภัยรายแรกซึ่งเสียชีวิตแล้วออกมาได้

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 17:48 น.


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (29 ส.ค. 67) เวลา 15.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากเหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่ม ณ หมู่ 2 บ้านท่าหีบ ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดค้นพบและนำร่างผู้ประสบภัยรายแรกซึ่งเสียชีวิตแล้วออกมาได้ โดยนายอนุทินพร้อมคณะได้รับฟังการรายงานความคืบหน้าของปฏิบัติการ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเสี่ยงภัย ยืนยันแม้ว่าไม่พบสัญญาณการเคลื่อนไหวของผู้ประสบภัยที่ยังติดอยู่อีก 2 ราย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะยังคงทำงานต่อไปจนกว่าจะนำออกมาได้ 

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำร่างผู้ประสบภัยรายแรกออกมาได้แล้ว ซึ่งจากการรายงานของเจ้าหน้าที่ทีมปฏิบัติการ USAR กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทราบว่า จุดที่พบร่างผู้เสียชีวิตนั้นอยู่บริเวณภายนอกของรถบรรทุก ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ขาดน้ำ ขาดอาหาร และขาดอากาศ โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะได้นำร่างผู้เสียชีวิตไปทำการชันสูตรพลิกศพที่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อยืนยันเหตุและเวลาการเสียชีวิตต่อไป

“สำหรับแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นชาวจีน หนึ่งในนั้นเป็นวิศวกรควบคุมงาน และอีกรายเป็นผู้ขับรถแบคโฮ ในเบื้องต้นแม้ว่าเราจะทราบพิกัดของผู้ประสบภัยทั้ง 2 รายที่เหลือ อย่างไรก็ตามจากการตรวจจับการเคลื่อนไหว ของเครื่องเรดาห์สำหรับค้นหาผู้ประสบภัยใต้ซากอาคาร (Life Locator) ในขณะนี้ไม่พบการเคลื่อนไหวแล้ว เนื่องจากเหตุการณ์อุโมงค์ถล่มใช้ระยะเวลาล่วงเลยมาแล้วกว่า 100 ชม. ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ผู้ประสบภัยจะมีชีวิตรอด แต่อย่างไรก็ตามต้องค้นหาต่อไปจนกว่าจะพบ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อไปอีกว่า ในการปฏิบัติการนี้เราใช้ทั้งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ ทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกู้ภัยที่เข้าไปดำเนินการ ซึ่งต้องเข้าไปอยู่อาศัยภายใต้โครงสร้างชั่วคราวที่ใช้ป้องกันดินถล่ม ดังนั้น เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทีมให้ความช่วยเหลือด้วย และจำเป็นจะต้องทำตามขั้นตอนการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานการช่วยเหลือของสากล เรื่องความปลอดภัยจึงมีความสำคัญที่สุด พร้อมทั้งรับฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้วย ซึ่งในวันนี้ ต้องขอบคุณ ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร ที่มาร่วมลงพื้นที่และให้คำแนะนำขั้นตอนในการปฏิบัติ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ทีมกู้ภัย แรงงาน ที่ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเผชิญความเสี่ยงตั้งแต่เริ่มต้น ผมขอเป็นหนี่งในกำลังใจจากพี่น้องคนไทยร่วมส่งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

น.ส. ไตรศุลี กล่าวว่า จากการหารือกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ทีมกู้ภัย และทีมแพทย์ แล้ว ทุกฝ่ายเห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องของข้อมูล เครื่องเรดาห์สำหรับค้นหาผู้ประสบภัยใต้ซากอาคาร (Life Locator) ซึ่งเป็นเครื่องที่ “ตรวจจับการเคลื่อนไหวของวัตถุ ไม่ใช่ไม่ใช่สัญญาณชีพ” การสแกนตรวจพบนั้นอาจเกิดการเคลื่อนที่ของ หิน ดิน ทราย หรืออาจเป็นไปได้ว่าร่างกายผู้เสียชีวิตมีปฏิกิริยา ซึ่งจากผลการให้การช่วยเหลือนำร่างผู้ประสบภัยรายแรกออกมาได้ ชัดเจนว่าเครื่องดังกล่าวสามารถระบุพื้นที่ (Located) จุดผู้เสียชีวิตได้จริง ซึ่งสำหรับ 2 รายที่เหลือ ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบการเคลื่อนไหวเป็นระยะ ๆ ควบคู่กับใช้สุนัข K-9 ดมกลิ่น หากยังไม่พบเจอและนำออกมาได้ก็ถือว่าต้องหาต่อไป

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม