หน้าแรก > สังคม

สธ.เผย "คนโสด" ยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งจัดสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการของประชาชน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 04:39 น.


กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลการสำรวจความคิดเห็นของคนโสดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ และการมีลูก พบคนโสดร้อยละ 87 อยากมีคู่ และเมื่อได้ใช้ชีวิตคู่ ต้องการมีลูก ร้อยละ 64 พร้อมจัดกิจกรรม Sod Smart ‘ตามหาคนที่ใช่  ในแบบของคุณ’ EP.2 เพื่อให้คนโสดรุ่นใหม่ได้เสนอไอเดียเพื่อหาทางออกให้กับประเทศในยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย

(25 กุมภาพันธ์ 2566) ดร.เจนจิรา รัตนเพียร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่  ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท ซอย 11 กรุงเทพมหานคร ว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเด็กเกิดน้อย และสังคมสูงวัย จากอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ที่ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย โดยประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมเหลือเพียง 1.16 ในปี 2564 และมีแนวโน้มจะลดลงอีก หากไม่มีมาตรการออกมาชะลอการลดลงของจำนวนการเกิด ส่งผลให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การจัดเก็บภาษีเงินได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย รวมถึงการเตรียมการด้านงบประมาณ เพื่อดูแลสวัสดิการสำหรับประชาชนในแต่ละช่วงวัยด้วย

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างครอบครัวให้มั่นคง แต่ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ จึงได้จัดกิจกรรม Sod Smart เพื่อพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของวัยแรงงาน โดยการจัดกิจกรรมนี้ได้มีการรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายจากประชาชนสำหรับคน 3 กลุ่ม คือ คือ

1) กลุ่มคนโสด จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนโสดได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน จัดทำแอฟพลิเคชันที่สามารถ matching ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ดูแลบุพการี มีสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย และส่งเสริมระบบการออมเพื่อการเกษียณ

2) กลุ่มที่ต้องการมีบุตร เสนอให้แก้กฎหมายอุ้มบุญให้คนที่ไม่ใช่ญาติสามารถตั้งครรภ์แทน ผู้หญิงโสดสามารถขออสุจิจาก sperm bank สำหรับการตั้งครรภ์ได้ การสร้างทัศนคติและค่านิยมในการสร้างครอบครัว และมีบุตรในวัยอันควร การสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิด - 15 ปี เพิ่มวันลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตร แบบได้เงินเดือน 6 เดือนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ และ

3) กลุ่มผู้สูงอายุ เสนอให้จัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบไปเช้าเย็นกลับ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน แจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างคอมมูนิตี้ที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในราคาไม่แพง และการมีแอพพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ การหาคนทำความสะอาดบ้าน ช่างซ่อมแซมบ้าน ที่ปรึกษาด้านสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มคนโสดเสนอว่าการให้สวัสดิการผู้สูงอายุควรคำนึงถึงกลุ่มที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุด้วย โดยเสนอให้สิทธิการลาเพื่อพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ สิทธิการลา เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย สิทธิลดหย่อนภาษีที่มากกว่าคนทั่วไป การยืดหยุ่นเวลาทำงาน การให้สิทธิ WFH และการมีที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อลดความเครียด” ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ จะมีการเสนอให้กระทรวง  ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เผยผลสำรวจความเห็นของคนโสดที่เข้าร่วมกิจกรรม Sod Smart ใน EP.1 พบว่า คนโสด ร้อยละ 87 อยากมีคู่ มีเพียง ร้อยละ 13 เท่านั้นที่อยากอยู่เป็นโสด ซึ่งเหตุผลที่ยังคงเป็นโสด คือ ยังไม่เจอคนที่ใช่ ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับเพื่อนใหม่ และมีภาระมาก การดูแลตัวเองก็ลำบากแล้ว เมื่อสอบถามว่าอยากมีบุตรหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 64 ต้องการมีลูก ร้อยละ 13 ไม่อยากมีลูก ร้อยละ 23 ไม่แน่ใจ โดยคนที่ตอบอยากมีลูก เพราะ อยากให้ครอบครัวสมบูรณ์ รักเด็ก อยากมีคนดูแลตอนแก่ และอยากมีโอกาสสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้กับสังคม สำหรับคนที่ไม่ต้องการมีลูกระบุว่า สภาพสังคมไม่น่าอยู่ กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี และการทำงานไม่เอื้อให้มีลูกตามลำดับ

“ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม Sod Smart เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างครอบครัวคุณภาพ (smart family) ที่กรมอนามัยได้เปิดตัวโครงการไปในปี 2563 ภายใต้ชื่อโครงการวิวาห์สร้างชาติ เน้นกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ คนโสด คนมีคู่ คนมีคู่แต่มีบุตรยาก เพื่อให้ทุกกลุ่มมีการเตรียมความพร้อมก่อนสมรสและก่อนมีบุตร  เพราะการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพจะต้องมาจากความพร้อม ความตั้งใจ และมีการวางแผนชีวิตที่ดี ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและสุขภาพ ซึ่งควรสมบูรณ์ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต  การจัดงานนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มคนโสด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวคุณภาพ และเป็นกลุ่มที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรม Sod Smart ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการ Matching ให้กับกลุ่มคนโสด ดังนั้น คนโสดจะมีโอกาสได้พบคู่หรือไม่ คงจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะเหตุผลของคนที่อยู่เป็นโสดมีหลายเหตุผล มีความแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่าร้อยละ 98.3 อยากให้กรมอนามัยจัดกิจกรรม Sod Smart อีก ดังนั้น จึงค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้คนโสดได้มีโอกาสรู้จักกันเป็นโครงการที่ตรงใจกับคนโสด ส่วนเรื่องการได้คู่หรือไม่ได้คู่ขอให้เป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาส” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม