วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 12:05 น.
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ดำเนินการร่วมกับหน่วยข่าวกรองและส่วนงานปราบปรามของกรมศุลกากร เพื่อเฝ้าระวังและยับยั้งการขนย้ายของเสียอันตรายแบบผิดกฎหมาย (illegal traffic) คาดว่าเป็น Electric Arc Furnace (EAF) dust หรือ ฝุ่นแดง จากอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก จำนวน 816 ตัน (ประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์) จากประเทศแอลบาเนีย ซึ่งเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อย่างใกล้ชิด
สืบเนื่องจากกรมโรงงานฯ ในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจ (Competent Authority : CA) ของประเทศไทย ภายใต้ “อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด” ได้รับการประสานงานและแจ้งข่าวการขนส่งของเสียดังกล่าวจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือ NGO ด้านสิ่งแวดล้อม 3 แห่ง ได้แก่ 1.เครือข่าย Basel Action Network (BAN) สหรัฐอเมริกา 2.องค์กร Friends of the Earth ประเทศแอฟริกาใต้ และ 3.มูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ EARTH ประเทศไทย เพื่อยับยั้งการเคลื่อนย้ายของเสียแบบผิดกฎหมายด้วยเรือขนส่งสินค้าจำนวน 2 ลำ ที่มีต้นทางจากประเทศแอลบาเนีย ปลายทางประเทศไทย โดย ประเทศไทย ไม่เคยได้รับการแจ้งขอความยินยอมการนำเข้าของเสียดังกล่าว รวมทั้งไม่เคยยินยอมหรืออนุญาตให้มีการนำเข้าของเสียดังกล่าวแต่อย่างใด จึงถือเป็นการเคลื่อนย้ายของของเสียอันตรายแบบผิดกฎหมายภายใต้อนุสัญญาบาเซล
โดยเมื่อปี 2565 ประเทศไทยเคยมีหนังสือถึงรัฐบาลประเทศแอลบาเนียไม่ยินยอมให้นำเข้าของเสียดังกล่าวมายังราชอาณาจักรไทย
ล่าสุดกรมโรงงานฯ ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานผู้มีอำนาจ (CA) ของประเทศแอลบาเนีย (ประเทศต้นทาง) และหน่วยงาน National Environment Agency (CA ของประเทศสิงคโปร์) ซึ่งเป็นประเทศผู้นำผ่าน และคาดการณ์ว่า จะมีการถ่ายลำเรือของเสียดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ จึงให้เฝ้าระวังบริเวณท่าเรือและยับยั้งการเคลื่อนย้ายของเสียดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ ได้ประสานงานกับกรมศุลกากร เพื่อติดตามตรวจสอบการนำ “ของเสียอันตรายที่ไม่ได้รับอนุญาต” เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่อง
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน