วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 03:27 น.
ครม. มีมติรับทราบ การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไป
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (13 สิงหาคม 2567) มีมติรับทราบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไป ซึ่งเป็นการรายงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ประสบความสำเร็จต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานกองทุนรวมวายุภักษ์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบหลักการการกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง และเงื่อนไขในการดำเนินการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. และการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนฯ สรุปได้ ดังนี้
1. มูลค่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. - ประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท
2. ระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. - ไม่เกิน 10 ปี โดยกองทุนฯ อาจพิจารณาขยายระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ดังกล่าวเมื่อครบกำหนด
3. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. - นักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์มูลนิธิ และสมาคมต่าง ๆ เป็นต้น
4. ผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. - หน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ โดยมีกรอบแนวทางในการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ดังนี้
1) อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และอาจมีการปรับปรุงส่วนต่างตามความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปี
2) อัตราผลตอบแทนขั้นสูงต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตราสารทุนและมีผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จดทะเบียนใน ตลท. เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ จะมีการพิจารณากำหนดอัตราผลตอบแทนดังกล่าวตามกรอบแนวทางข้างต้นต่อไป
5. กลไกการคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. - การคุ้มครองเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. กองทุนฯ จะบริหารความเสี่ยง โดยการกำหนดสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio) โดยในกรณีที่ Asset Coverage Ratio ลดลงเกินกว่าสัดส่วนขั้นต่ำที่กองทุนฯ กำหนด กองทุนฯ จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อคุ้มครองเงินลงทุนขอผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนหรือได้รับเงินปันผล หาก NAV ของหน่วยลงทุนประเภท ข. ต่ำกว่า NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่จะกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับฯ ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก.ต่อไป
6. การชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. - หน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น Waterfall โดยเมื่อครบระยะเวลาการลงทุน กองทุนฯ จะรับชื่อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ตามแนวทางและวิธีที่กำหนด
7. ตลาดรอง - หน่วยลงทุนประเภท ก. สามารถทำการซื้อขายผ่าน ตลท.
ทั้งนี้ ภายหลังจากเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป กองทุนฯ จะลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และเชิงรับ (Passive Investment) และยังคงลงทุนส่วนใหญ่ในตราสารทุนที่จดทะเบียนใน ตลท. โดยจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว มีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ และคณะกรรมการการลงทุนของกองทุนฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดในการลงทุนต่อไป
ประโยชน์และผลกระทบ การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป จะเกิดประโยชน์ ดังนี้
1. เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเป็นการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อการลงทุนใน ตลท. ทั้งนี้ การปรับตัวของ SET Index ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการอื่นใดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน