หน้าแรก > ภูมิภาค

อช.หาดนพรัตน์ธาราฯ พบลูกพะยูนพลัดหลง ประสาน ทช.รับตัวไปดูแล

วันที่ 12 สิงหาคม 2567 เวลา 04:26 น.


อช.หาดนพรัตน์ธาราฯ พบลูกพะยูนพลัดหลง ประสาน ทช.รับตัวไปดูแล

นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีนโยบายในการรายงานการพบเจอสัตว์ทะเลหายากฯ ให้ประชาชนรับทราบข่าวสาร แบบ Real time จึงให้อุทยานแห่งชาติทางทะเล Update การพบเจอสัตว์ทะเลหายากฯ ในแต่ละบริเวณของอุทยานแห่งชาติทางทะเล

โดยเมื่อเวลา 12.00 น. (10 ส.ค.67) อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ดำเนินการสำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ และพบลูกพะยูนวัยแรกเกิด เพศผู้ ขนาดลำตัวยาวประมาณ 95 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 15 - 20 กิโลกรัม ในสภาพร่างกายอ่อนแรง มีรอยขีดข่วนบริเวณส่วนหัว ที่บริเวณเกาะปอดะ จากการตรวจสอบเบื้องต้น เจ้าหน้าที่คาดว่าพลัดหลงกับแม่พะยูนทำให้ลูกพะยูนไม่ได้รับนมแม่จนร่างกายอ่อนแรง เบื้องต้นสภาพร่างกายค่อนข้างผอม ร่างกายอ่อนแรง มีรอยขีดข่วนบริเวณส่วนหัว ไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ตามลำตัว เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานงานกับสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลและรักษาเบื้องต้น และแนะนำให้พาลูกพะยูนกลับเข้าฝั่งเพื่อให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง รับไปดูแลรักษาต่อไป

ขณะที่ ดร.ปิ่นสักส์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ได้กล่าวถึงสถานการณ์ลูกพะยูนเกยตื้นว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ว่ามีนักท่องเที่ยวพบลูกพะยูนมีชีวิต​ว่ายเพียงลำพัง ​​บริเวณเกาะปอดะ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่​ จึงได้ประสานงานเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นและทำการขนย้ายมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง 
        
จากการตรวจสอบพบว่าเป็นลูกพะยูน เพศผู้​ อายุประมาณ​ 1-2 เดือน ความยาว 102 ซม. น้ำหนัก 13.8 กก. ลูกพะยูนสภาพอ่อนแรงและตาจมลึกแสดงถึงภาวะขาดน้ำ แต่ยังสามารถยกหัวขึ้นหายใจได้ พบรอยบาดแผลบริเวณส่วนจมูกและหัวเล็กน้อย ร่างกายค่อนข้างผอม บริเวณตาซ้ายขุ่น เสียงปอดมีความชื้นเล็กน้อย​ ลำไส้มีการบีบตัว​ และพะยูนยังมีความอยากกินอาหาร  ทีมเจ้าหน้าที่ให้การดูแลตลอด​ 24​ ชั่วโมง​ โดยมีการป้อนนมทดแทนและน้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อชดเชยภาวะการขาดน้ำ​​ มีการใช้นมผงเด็กเป็นนมทดแทนให้กับพะยูน​ และทางสัตวแพทย์​จะวางแผนในการตรวจสุขภาพ​อย่างละเอียดต่อไป

เครดิต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , กรมอุทยานแห่งชาติฯ 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม