หน้าแรก > สังคม

ผู้ว่าฯ กทม. กำชับผู้บริหารจัดทำงบประมาณ ’68 โปร่งใส พร้อมยอมรับคำสั่งศาลกรณีหนี้ BTS ย้ำใช้งบฯ รอบคอบและคุ้มค่าที่สุด

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 15:14 น.


(1 ส.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2567 โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักและสำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้เน้นย้ำในเรื่องข้อบัญญัติงบประมาณซึ่งผ่านวาระ 1 เมื่อวานนี้ว่าในช่วง 2 สัปดาห์นี้จะต้องให้ข้อมูลอย่างชัดเจนต่อคณะกรรมการ รวมถึงเรื่องงบแปรญัตติด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจจะมีบางจุดกรรมการพิจารณาตัดออกและแปรญัตติโครงการที่จำเป็นเพิ่มเข้าไปแทนเพื่อให้งบประมาณยังคงอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท โดยให้เตรียมข้อมูล เหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ให้พร้อม นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส การทำ TOR อย่างรอบคอบ เป็นไปตามระเบียบ รวมถึงเน้นย้ำนโยบายที่จะผลักดันในปีที่ 3 ต่อไป

● กทม. ยอมรับคำสั่งศาลเรื่องหนี้บีทีเอส เตรียมเร่งหาข้อสรุปร่วมกับ KT ย้ำจะใช้งบฯ ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ประเด็นการชำระหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยอมรับคำสั่งศาล โดยจะเร่งการประชุมใหญ่เพื่อหาข้อสรุประหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) และกรุงเทพมหานคร และวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลโดยละเอียด ซึ่งมีบางจุดที่เป็นประเด็นจากศาล ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาและหาแนวทางในการปฏิบัติ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงต่อไปว่า ในส่วนความผิดคือการหยุดชำระหนี้ จากส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ในช่วงประมาณปี 2564 มีการนำหนี้มารวมเพื่อนำไปต่อสัญญาตาม ม.44 จึงทำให้เกิดการหยุดชำระเงิน ต่อมา ม.44 ไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กรุงเทพมหานครจึงรอคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี ช่วงแรกบีทีเอสยอมรับการไม่จ่ายเงิน แต่เมื่อปี 2564 ทางบีทีเอสได้ฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยจากศาลฯ ระบุว่ากรุงเทพมหานครไม่ต้องรอคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี โดยให้จ่ายตามภาระที่มีอยู่รวมถึงระบุดอกเบี้ยมาด้วย ซึ่งก็ทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระและความกดดันเพิ่มมากขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินรถส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 2,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท แต่ค่าโดยสารที่เก็บได้ เป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณมาจ่ายส่วนต่างในการเดินรถ จำนวน 6,000 ล้านบาท สำหรับงบประมาณที่กรุงเทพมหานครได้รับปีละ 90,000 ล้านบาท เมื่อต้องหักไปจ่ายหนี้ 6,000 ล้านบาท รวมทั้งมูลหนี้ที่รวมแล้วเกือบ 40,000 ล้านบาท ก็จะเป็นภาระของชาว กทม. ไปโดยปริยาย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 140 วัน และจะพยายามให้การดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ตามคำสั่งศาล โดยกรุงเทพมหานครจะพยายามใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด เพราะเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของประชาชน และจะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่าจะมีวิธีใดที่จะช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้ การต่อ พ.ร.บ. ร่วมทุนที่จะหมดในปี 2572 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เน้นย้ำว่าทางกรุงเทพมหานครเองจะต้องพิจารณาคำสั่งศาลให้ถี่ถ้วน เพราะข้อมูลบางตัวอาจจะไม่เป็นปัจจุบัน

● เขตห้วยขวางลงดาบ เพิกถอนวินมอ’ไซค์ที่ทำผิด พร้อมเร่งจัดระเบียบใหม่โดยเร็ว

สำหรับเรื่องที่คนต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่คงต้องมีหลายหน่วยงานมาช่วยกัน ในส่วนของ กทม. ดูเรื่องหาบเร่แผงลอยเป็นหลัก ส่วนใบอนุญาตขับรถสาธารณะทางกรมการขนส่งทางบกคงต้องมาช่วยกัน ในเรื่องของการดูแลวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่ ผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร ก็จะดูแลตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่

นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวเสริมว่า จากกรณีร้องเรียนเรื่องของวินมอเตอร์ไซค์ชาวเวียดนามที่มีการลักลอบขับขี่บริเวณ MRT ห้วยขวางประตู 2 ได้สืบทราบแล้วว่าเป็นหมายเลข 7 โดยขณะนี้ทาง ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) และสำนักงานเขตได้ลงพื้นที่แล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีความผิดจริง จึงจะมีการเพิกถอนใน 2 ส่วน คือ 1. เจ้าของวิน จะมีการประกาศยกเลิกวิน เนื่องจากไม่ตรวจสอบว่าใครเป็นใคร มาจากที่ไหน 2. ความผิดเฉพาะตัว โดยจะเพิกถอนหมายเลข 7 หลังจากเพิกถอนทั้งหมดแล้ว เขตจะเร่งจัดระเบียบใหม่และดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม