วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เวลา 14:46 น.
รมว.พม. เผย นายกฯ โทรสั่งแก้ปัญหาด่วน หลังปรากฎภาพคนไร้บ้านยึดป้ายรถเมล์หน้าห้างดัง เผย 5 คนเร่ร่อนไม่ประสงค์รับการช่วยเหลือ ชี้แก้ยากถ้าเจ้าตัวไม่สมัครใจ ต้องแก้กฎหมายเข้มงวดเอาผิด วอน หยุดให้ทานขอทาน “ย้ำ” เป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
วันนี้ (30 ก.ค. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพคนไร้บ้านยึดป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านบางกะปิเป็นที่นอนพักว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ตนเองแก้ปัญหาทันที ยืนยันว่ากระทรวง พม.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์ล่าสุดนายกรัฐมนตรีโทรมากำชับ
ทั้งนี้ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ลงพื้นที่เมื่อเวลา 22.30 น. วานนี้ (29 ก.ค. 67) พบคนไร้บ้าน 5 คน เป็นชาย 3 คน และหญิง 2 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุ 2 คน จากการพูดคุยทั้ง 5 คนไม่ประสงค์ที่จะเข้าสู่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ส่วนสาเหตุที่มาเร่ร่อนมีปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้สูงอายุมีปัญหากับครอบครัวที่ไม่สามารถดูแลได้ จึงออกมาเร่ร่อน รวมถึงมีผู้ที่พึ่งพ้นโทษแต่ไม่รู้จะไปเริ่มต้นชีวิตตรงไหน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทั้ง 5 คนไปเข้าบ้านอิ่มใจ ของ กทม. อย่างไรก็ตาม ถือเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากเมื่อไม่ยอมเข้าระบบ ดังนั้นตามกฎหมายทำได้เพียงแค่เชิญเข้าสู่ระบบและพัฒนาทักษะฝีมือ และยังมีโครงการบ้านเช่าคนละครึ่ง รวมถึงการจัดหางาน แต่ด้วยพื้นฐานของสังคมไทยที่เป็นสังคมเอื้ออาทร คนไทยเห็นคนลำบาก ก็มักจะช่วยเหลือแจกของ เป็นการสนับสนุนให้มีคนไร้บ้านหรือขอทานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ย้ำว่าเรื่องขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขอให้ประชาชนหยุดให้ทานกับคนขอทาน
นายวราวุธ เปิดเผยว่า สถานการณ์คนไร้ที่พึ่งในปี 2562 มีประมาณ 2,700 คน ส่วนปี 2566 ลดลงเหลือ 2,499 คน ขณะที่ปี 2567 เฉพาะในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 500 คน มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ ดูแลคนไร้ที่พึ่งได้ประมาณ 4,800 คน ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไร้ที่พึ่งเริ่มจากป่วยทางจิต นานไปจะไม่ยอมเข้าบ้าน หากเจอจะเร่งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าบำบัด แต่ปัญหาคือเมื่อเจ้าตัวปฏิเสธเข้ารับความคุ้มครอง ไม่สามารถทำอะไรได้ กฎหมายที่มีอยู่ควรจะต้องมีมาตรการที่จูงใจมากกว่านี้ รวมถึงมีความเข้มงวดให้เอาผิดทางกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อคนไร้ที่พึ่งปฏิเสธเข้ารับการคุ้มครอง กระทรวง พม.ไม่สามารถจะไปจับหรือเอาตัวออกมาจากสถานที่ได้ เพราะจะไปเข้ากฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.อุ้มหาย แต่ถ้าไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะใช้กฎหมายอื่นในการดำเนินการกับผู้ไร้ที่พึ่งหรือผู้ที่นอนอยู่ตามป้ายรถเมล์ เช่น พ.ร.บ.กีดขวางทางเท้า แต่บทลงโทษที่มีจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการจะเข้าระบบขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เมื่อไม่สมัครใจเหตุการณ์ก็จะวนเช่นนี้
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 11-12 สิงหาคมนี้ ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกของเด็กจากสถานสงเคราะห์ทั่วโลก เป็นการสานฝัน และแสดงศักยภาพเด็กของเรา ซึ่งกระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนนั้น ได้ส่งเด็กอายุ 17 ปี ประมาณ 10 คน พร้อมผู้ดูแลเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 59 และในปี 62 ก็เข้ารอบ 8 คนสุดท้าย จึงอยากจะขอฝากประชาชนคอยเป็นกำลังใจ ให้กับเด็ก ๆ ในสถานสงเคราะห์ของกระทรวง พม.ด้วย