หน้าแรก > นวัตกรรม

เปิดโลกดาราศาสตร์ 'สู่ผู้บกพร่องทางการมองเห็น'

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 05:20 น.


เปิดโลกดาราศาสตร์ 'สู่ผู้บกพร่องทางการมองเห็น'

(23 ก.พ.66) เพจเฟซบุ๊ก "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" เผย หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา จัดค่ายส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงดาราศาสตร์ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป หวังสร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการทางดาราศาสตร์ สร้างกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ผ่านประสบการณ์จริง

NARIT มุ่งหวังสร้างโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล ไม่เพียงแต่กระจายโอกาสไปยังถิ่นที่ห่างไกล แต่ยังรวมถึงกลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ จึงให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมบุคลทั่วไป สอดคล้องแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ที่กำหนดเจตนารมณ์ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกันภายใต้กรอบภาคีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ประกอบกับดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้จินตนาการในการเรียนรู้ การบกพร่องทางใดทางหนึ่ง หรือการมีความต้องการพิเศษเฉพาะ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ดาราศาสตร์ของบุคคลประเภทนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบกิจกรรม หรือใช้สื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อเสริมสร้างจินตนาการ และทำให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ค่ายส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับเด็กเเละเยาวชนผู้บกพร่องทางการมองเห็น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ. แปลงยาว จ. ฉะเชิงเทรา มีนักเรียนจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ จำนวน​ 42 คน​ และครู จำนวน​ 15​ คน​ เดินทางมาร่วมกิจกรรม ทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ได้ออกแบบกิจกรรมที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นเรียนรู้ดาราศาสตร์จากการสัมผัส ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับทิศ การเกิดกลางวันกลางคืน เรียนรู้ระบบสุริยะย่อส่วน และพิเศษสุดกับกิจกรรมท้องฟ้าในมือฉัน​ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ท้องฟ้า และกลุ่มดาว ภายในท้องในฟ้าจำลอง ผ่านโมเดลครึ่งทรงกลมท้องฟ้า ที่มีออกแบบและพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ A touch of the Universe ของมหาวิทยาลัยวาเลนเซีย ประเทศสเปน

ในอนาคต NARIT ยังมีแผนที่จะพัฒนา และผลิตต้นแบบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น และกลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอื่น ๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้สามารถสร้างจินตนาการ และเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม