หน้าแรก > สังคม > ข่าวที่น่าสนใจ

เอ็นดู "ธันวา" นอนดูดนิ้วจนหลับ ชั่งน้ำหนักได้ 87.7 กก. มีแรงมากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น

วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เวลา 11:02 น.


19 ธันวาคม 2565 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดเผยว่า ภายใต้การกำกับการของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก มีความคืบหน้าการดูแลรักษาช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลงที่มีอาการป่วยและบาดเจ็บ ชื่อ "ธันวา" เพศเมีย ว่า

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก รายงานผลการติดตามอาการและการดูแล พบว่า ลูกช้างยังไม่ถ่ายอุจจาระ แต่ไม่พบอาการท้องอืด มีการผายลมเป็นระยะ สัตวแพทย์ทำการกระตุ้นถ่ายพบว่าถ่ายออกมาเล็กน้อย มีลักษณะเป็นเนื้อครีมที่แข็งขึ้น ซึ่งจะรอให้ลูกช้างขับถ่ายเองวันนี้ (19 ธ.ค. 65) แล้วสังเกตอุจจาระเพิ่มเติม) ปัสสาวะปกติ
การดูแลเน้นการป้อนน้ำ และเกลือแร่ให้ถี่ขึ้น ไม่สามารถให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหูได้เนื่องจากได้ทำการให้สารน้ำทุกวันผ่านทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหู ส่งผลให้เส้นเลือดเสียหาย ต้องรอการหายดีของเส้นเลือด ประมาณ 3-5 วัน

สำหรับอาหารให้กินน้ำต้มข้าว เนื้อข้าวต้มเปื่อย ทุก 3 ชั่วโมง ( น้ำข้าวต้ม 500 มิลลิลิตร และ เนื้อข้าวต้ม 16 ช้อน ต่อ 1 มื้อ) ทำการให้ยาฆ่าเชื้อแบบกิน ทำการวิตามินแบบกิน ให้กินน้ำผึ้ง ทำการให้ยาลดกรด เอนไซน์ช่วยย่อยอาหาร และยาขับลมแบบกิน ยังคงต้องใช้การพยุงตัวช่วยในการลุก นั่ง ยืน เดิน มีเรี่ยวแรงและกำลังมากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น (มีการพยุงตัวช่วย) และได้ทำการชั่งน้ำหนัก พบว่า ลูกช้างป่าธันวามีน้ำหนัก 87.7 กิโลกรัม ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ยังคงต้องดูแลลูกช้างป่า (ธันวา) อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

เครดิต ประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม