หน้าแรก > อาชญากรรม

กรมศุลกากร เตรียมทำลายบุหรี่ไฟฟ้า 72 ล้านบาท พร้อมแถลงตรวจยึดสินค้าแบรนด์เนมละเมิดลิขสิทธิ์ มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14:58 น.


กรมศุลกากรร่วมกับตำรวจไซเบอร์ แถลงการทำลายบุหรี่ไฟฟ้า และทลายโกดังสินค้าแบรนด์เนมละเมิดลิขสิทธิ์ ย่านจังหวัดสมุทรสาคร มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. ที่อาคารสโมสร ศุลกากร กรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนา และบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการทำลายบุหรี่ไฟฟ้าของกลางที่คดีสิ้นสุด และผลการตรวจยึดสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า พร้อมของกลาง น้ำยา-อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก รวมมูลค่ากว่า 72 ล้านบาท และสินค้าแบรนด์เนม อาทิ กระเป๋า, เสื้อผ้า, พรม, รองเท้า, น้ำหอม แบรนด์ดัง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนา และบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า

คดีแรก คือ การระดมการกวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า และทำลายของกลางในในความผิดตามกฎหมายศุลกากรที่คดีสิ้นสุดแล้ว มูลค่ากว่า 72 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้กรมศุลกากรทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ได้จับกุมและตรวจยึดสินค้าจากห้างร้าน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงโกดัง ซึ่งประกอบด้วย เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หัวบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับดูด และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีการลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยมาโดยตลอด และมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุด ซึ่งของกลางดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินและรอการทำลาย โดยของกลางที่นำไปทำลายครั้งนี้ ประกอบด้วย เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หัวบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับดูด และอุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 874,535 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 72,019,523.46 บาท

ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร เจ้าของหรือผู้ครอบครองมีความผิดตามกฎหมายศุลกากร ในฐานความผิดซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ จำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งสิ่งของอันรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพีธีการคุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บนโรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการพนักงานศุลกากร โดยของกลางทั้งหมดจะถูกนำไปทำลายด้วยวิธีการทุบทำลายโดยรถบด ณ บริษัท โกลเด้นดีพ(ประเทศไทย) จำกัด ต.ตาเสา อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้

คดีที่ 2 คือ การตรวจยึดสินค้าลักลอบหนีศุลกากรซึ่งเป็นสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยก่อนหน้านี้กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากรได้รับแจ้งว่ามีการเก็บสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดต่างประเทศไว้ในโกดังสินค้า พื้นที่พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จึงนำกำลังเข้าตรวจค้น

พบสินค้าประเภทกระเป๋า รองเท้า ที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศและไม่พบเอกสารผ่านพิธีการศุลกากรมาสำแดงจำนวนมาก จึงถือว่ามีความผิดในฐานความผิด มาตรา242 และมาตรา 246 ประกอบมาตร 166 และมาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 จึงได้ทำการตรวจยึดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ กรมศุลกากรเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตามความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากล ร่วมถึงการสร้างมาตรฐานการป้องกันสังคม เพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้ประกอบการที่สุจริตและประชาชนทั่วไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม