หน้าแรก > เศรษฐกิจ

นายกฯ เปิดตัวโครงการ Ignite Finance ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก

วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 เวลา 01:27


นายกฯ เปิดตัวโครงการ Ignite Finance ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก ย้ำการผลักดัน Innovation ใหม่ ๆ ระบบการเงิน นำไปสู่การสร้าง Inclusive Innovation ด้านการเงินให้คนไทย ขณะที่ One-stop service ความชัดเจนการบริหารเงินทุน เป็นหัวใจสำคัญ ให้ไทยเติบโตสู่ Financial Frontier ของภูมิภาค ดึงดูดเงินทุน คนที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาอยู่ในประเทศ สร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจของโลก-ประเทศไทย

(19 ก.ค. 67) เวลา 13.30 น. ณ ห้องกำปั่นทอง ชั้น 21 อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ Ignite Finance: Thailand’s Vision for a Global Financial Hub เปิดทางนำไทยสู่ศูนย์กลางการเงินโลก ซึ่งกระทรวงการคลังจัดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” ของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของ 8 อุตสาหกรรมหลัก โดย “Ignite Finance” มีเป้าหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และผู้นำจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของกระทรวงการคลังในการปรับตัว และบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 149 ปีที่ผ่านมา และได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงการคลังในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและเต็มไปด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีการเงินโลก รวมทั้งนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ภายใต้ “Ignite Finance” โดยวางแผนและเป้าหมายที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจทางการเงิน สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ และการเสริมสร้างระบบนิเวศน์ทางการเงินที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลกหรือ Thailand Financial Center ที่จะเน้นการประกอบธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย ผ่าน 3 กุญแจสำคัญ (1) กฎหมายที่พร้อมรับอนาคต: โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการยกร่างกฎหมายที่มีความยืดหยุ่น โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ภายใต้โครงการ Ignite Thailand ภาครัฐจะผลักดันร่างกฎหมายที่จะสร้างกรอบการกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้กระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อขยายขอบเขตและบทบาทของภาคการเงินของประเทศไทยในเวทีโลก (2) สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่: Ignite Finance จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกแรกที่สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินเลือกที่จะมาตั้งสาขาและประกอบธุรกิจ ด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งบริษัทและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การให้วีซ่าทำงานแก่บุคลากร และวีซ่าที่เกี่ยวข้องของครอบครัว การจัดเก็บภาษีที่เทียบเท่ากับศูนย์กลางการเงินอื่น โครงการเพิ่มแรงจูงใจอื่น ๆ เช่น เงินสนับสนุน (Grant) และ (3) ระบบนิเวศน์แห่งอนาคต: Ignite Finance จะพัฒนากรอบกฎหมายที่เข้มแข็งและโปร่งใสที่จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำธุรกิจทางการเงิน เหมือนที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจและคุณภาพชีวิตของบุคลากร

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะพลิกโฉมนโยบายระบบสถาบันการเงิน ด้วยการริเริ่มนโยบายระบบสถาบันการเงินภายในประเทศที่สำคัญ โดยกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อให้มีการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) และการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) โดยนโยบายดังกล่าวมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินของประชาชนและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้ระบบการเงิน มีประสิทธิภาพ มั่นคง และตอบโจทย์ของประชาชน

โอกาสนี้ นายกฯ ได้ย้ำถึงสิ่งรัฐมนตรีนำเสนอ Vision ไปว่า เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เติบโตจากภาคการผลิต ไปสู่ภาคการบริการที่มีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น โดยอุตสาหกรรมการเงินของไทยช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความแข็งแกร่งจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฝั่งภาคการผลิต การท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยได้เร็วเพียงพอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้ ความสามารถมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในอุตสาหกรรมดังกล่าว  คือ “อุตสาหกรรมการเงิน การลงทุน การธนาคาร” ซึ่งกลยุทธ์หลักที่รัฐมนตรีได้นำเสนอไปคือ การเปิดรับเงินนอกเข้ามาอยู่ในประเทศ

นายกฯ กล่าวว่าที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้าน ปรับแก้กฏหมายให้เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ เพราะหลาย ๆ บริษัท ไม่ได้เข้าไปอยู่ในประเทศ เพื่อจะค้าขายกับคนในประเทศ แต่เป็นการเข้าไปอยู่เพื่ออาศัย Ecosystem ในการทำธุรกิจ ทำให้สามารถหา Talent ได้ เจรจาพูดคุยการค้า การลงทุน ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมบ้านเขาทำได้ และที่ผ่านมาทำไมนักลงทุนถึงไม่เลือกประเทศไทย ซึ่งการออกไปคุยกับนักลงทุนทำให้เข้าใจดีว่า หัวใจของการสร้างอุตสาหกรรมนี้ คือ การมีกฏหมายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจ และการมี Facility สำหรับคนทำงานที่ดีพอ ซึ่งมั่นใจว่า Facility ต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้น World Class ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงเรียน international สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

พร้อมกันนี้ นายกฯ ย้ำถึงตัวกฏหมายที่รัฐมนตรีได้กล่าวไป ทั้งการตั้ง One-stop service การมีสิทธิประโยชน์ การให้ความชัดเจนของการบริหารเงินทุนนั้น จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ไทยเติบโตไปเป็น Financial Frontier ของภูมิภาคได้ ขณะเดียวกันการผลักดัน Innovation ใหม่ ๆ ทางระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Virtual Bank หรือการค้ำประกันสินเชื่อ จะเป็นการสร้าง Inclusive Innovation ด้านการเงินให้กับคนไทย ทำให้เข้าถึงระบบการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น นำไปสู่การลงทุน การสร้างงาน การหาเงินเลี้ยงครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนได้ในที่สุด 

อย่างไรก็ตามหากมองทั้ง Ecosystem ของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินแล้ว นายกฯ กล่าวว่า Ecosystem ทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีแค่ธนาคาร การลงทุน หลักทรัพย์ หรือ Virtual Bank เท่านั้น แต่ยังมีภาคบริการที่เป็น Professional Service อีกหลาย ๆ อย่างที่จะเติบโตไปด้วยกัน เช่น ที่ปรึกษากลยุทธ์ ที่ปรึกษากฏหมาย ที่ปรึกษาเทคโนโลยี และที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น โดยนายกฯ ได้แสดงความมั่นใจว่าการที่ Ecosystem นี้เติบโตไปด้วยกัน นอกจากจะสร้างงานให้คนไทยได้ทำงานในบริษัทชั้นนำระดับโลกแล้ว ยังเป็นการเชื่อมต่อระหว่างภาคธุรกิจไทยไปยังตลาดโลก ผ่านองค์ความรู้ ความสามารถ และเครือข่าย (Network) ของบริษัท Professional Service เหล่านี้อีกด้วย

นอกจากนี้ นายกฯ ได้ย้ำให้เห็นว่าการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ไม่ใช่สร้างประโยชน์ให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว แต่คือกลยุทธ์ที่ประเทศไทยจะดึงดูดเงินทุน คนที่มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนองค์ความรู้ให้เข้ามาอยู่ในประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทย โดยนายกฯ ถือว่านโยบายนี้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณลงทุน และมีผลตอบแทนมหาศาลต่อประเทศ และคุ้มค่าอย่างยิ่งต่อการเดินหน้าเต็มที่

จากนั้นนายกฯ พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ได้ทำพิธีเปิดโครงการ Ignite Finance โดยการหยอดเหรียญลงไปในแผนที่ประเทศไทยก่อนที่จอด้านหลังจะปรากฏขึ้นเป็นภาพโลกที่มีสกุลเงินต่าง ๆ วิ่งออกมาจากแต่ละประเทศและวิ่งเข้าไปในประเทศไทย จากนั้นแผนที่ประเทศไทยสว่างและใหญ่ขึ้น ซึ่งการหยอดเหรียญดังกล่าวเปรียบเสมือนการดึงเงินเข้าสู่ประเทศไทยผ่านการดำเนินโครงการ Ignite Finance เพื่อประเทศไทยจะกลายเป็น Hot Spot ด้านการเงินในระดับโลกต่อไป 
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม