หน้าแรก > ภูมิภาค

ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ติดตามสถานการณ์น้ำ เน้นย้ำทุกพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมพนังกั้นน้ำ เฝ้าระวังจุดเสี่ยง

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 21:00 น.


ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เฝ้าติดตามสถานการณ์ พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยช่วงฤดูฝน ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในการปฏิบัติงานของจังหวัดและภาคีเครือข่าย และเฝ้าระวังติดตามการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (17 ก.ค. 2567) นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับแจ้งจากโครงการชลประทานร้อยเอ็ด ถึงสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนภัยจากสภาวะฝนตกหนักในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดมหาสารคาม จากอิทธิพลร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน ทําให้เกิดฝนตกหนักกระจายเป็นบริเวณกว้าง ทําให้เกิดปริมาณน้ำไหลหลาก ลงลําห้วยเสียวใหญ่ และลำห้วยเสียวน้อย ซึ่งจะไหลผ่านในเขตพื้นที่อําเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อําเภอสุวรรณภูมิ อําเภอโพนทราย และอําเภอหนองฮี ก่อนไหลลงสู่แม่นํ้ามูลตามลําดับ โดยระดับนํ้าที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ บริเวณสองฝั่งลำนํ้าเสียวใหญ่

นายทรงพล กล่าวต่อไปว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ตั้งทีมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบความพร้อมของแนวพนังกั้นน้ำ เฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงของพนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพที่คงทนแข็งแรง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เพื่อทำการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยตน ได้มอบหมายให้นายธรณิศ เทพแพงตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด นายวสันต์ พรหมดีสาร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานร้อยเอ็ด ผู้แทนผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่16 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 54 (นพค.54) องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด นายอำเภอปทุมรัตต์ นายอำเภอเกษตรวิสัย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำตามลำน้ำเสียวที่ฝายยางบ้านท่าม่วง ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ ฝายเขวาน้อย เขวาคำ ตำบลโนนสว่าง และบ้านต่องต้อน ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย หลังจากเกิดเหตุอาคารระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ต.โนนราษี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ถูกกัดเซาะ ทำให้ทำนบดินระบายน้ำลงช่องอาคารระบายน้ำล้นขาดเป็นทางยาวประมาณ 50 เมตร ส่งผลให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง และไหลลงสู่พื้นที่ 5 ตำบล คือ ต.โนนราษี ต.กำพี้ ต.ดอนงัว ต.บัวมาศ และ ต.หนองม่วง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม 

ซึ่งขณะนี้มวลน้ำดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งด้านการเกษตรและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำให้นายอำเภอในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณลุ่มริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันขึ้น โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุรวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องจักรกลและกำลังพลให้มีความพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในทันที และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ให้ดำเนินชีวิตตามปกติแต่อย่าประมาท ให้เฝ้าระวังติดตามการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ ได้สั่งการให้นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ แนวคั่นบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมชุมชน และช่วยกันสร้างความรับรู้แก่ประชาชน โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง ตลอดจนกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างทั่วถึงอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังกำชับให้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบ ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อประสบเหตุอุทกภัย”

“หากพี่น้องประชาชนพบเห็นพื้นที่เสี่ยงที่มักจะเกิดอุทกภัยเมื่อฝนตกหนักอย่างซ้ำซาก หรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อประสานงานที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 043-512-955 สายด่วนนิรภัย 1784 หรือที่ Line Official Account "ปภ.รับแจ้งเหตุ" หรือช่องทางของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ที่สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยด่วนต่อไป” นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในช่วงท้าย

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม