หน้าแรก > ต่างประเทศ

สีจิ้นผิง : นักปฏิรูป

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 11:45 น.


ปักกิ่ง, 15 ก.ค. (ซินหัว) — ผู้นำจีน “สีจิ้นผิง” ได้ทยอยเปิดเผยมาตรการปฏิรูปชุดใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางการเติบโตของประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ขณะคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) เริ่มต้นการประชุมนโยบาย ระยะ 4 วัน ณ กรุงปักกิ่ง ในวันจันทร์ (15 ก.ค.)

ณ พิธีเปิดการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 สีจิ้นผิงในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคฯ ได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานในนามกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ และแจกแจงร่างมติเกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและการเดินหน้าการสร้างความทันสมัยของจีน

การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเทียบเท่า “การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3” ครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น การประชุมในปี 1978 ที่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน

ช่วงก่อนการประชุมเต็มคณะครั้งปัจจุบัน สีจิ้นผิงได้ส่งเสริมการปฏิรูป กระตุ้นความพยายาม “ปลดปล่อยความคิดยิ่งขึ้น ปลดแอกและพัฒนาพลังการผลิตทางสังคม ปลดเปลื้องและเพิ่มพูนพลังความมีชีวิตชีวาของสังคม” เพื่อ “มอบแรงกระตุ้นอันแข็งแกร่งและหลักประกันเชิงระบบสำหรับการสร้างความทันสมัยของจีน”

สิ่งนี้สร้างความคาดหวังการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งรอบใหม่ พร้อมขจัดข้อวิตกกังวลว่าการปฏิรูปของจีนจะ “หยุดนิ่ง” หรือเศรษฐกิจของจีนจะ “สูญสิ้นพละกำลัง”

ตั้งแต่สีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อกว่าทศวรรษก่อน จีนได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” โดยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเกียรติภูมิบนเวทีนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะการปฏิรูปเป็นจุดเด่นของยุคใหม่นี้

อย่างไรก็ดี จีนในวันนี้ได้อยู่ในห้วงยามสำคัญของการเร่งรัดการปฏิรูป ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่นานัปการ

เดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง

สีจิ้นผิงถือเป็นนักปฏิรูปที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งของจีนต่อจากเติ้งเสี่ยวผิง โดยผู้นำทั้งสองมีภารกิจเดียวกันคือการสร้างความทันสมัยของประเทศ แต่อยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

เมื่อครั้งเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดกว้างช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวของจีนน้อยกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,300 บาท) ทำให้ความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของเขาเริ่มต้นจากเกือบศูนย์

ทว่าเมื่อครั้งสีจิ้นผิงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.19 แสนบาท) แต่การเติบโตได้ปรับเปลี่ยนความเร็วจากเดิม และข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ได้เริ่มลดน้อยถอยลง

แทนที่จะหยุดพักอยู่กับความสำเร็จของบรรดาผู้นำรุ่นก่อนหน้า สีจิ้นผิงกลับมุ่งมั่นเดินหน้าการปฏิรูป แม้รับรู้ดีว่าภารกิจนี้ยากเย็นเพียงไร โดยเขากล่าวว่าทำส่วนที่ง่ายของภารกิจนี้เสร็จสิ้นจนเป็นที่พึงพอใจของทุกคนแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นเป็นงานยากเหมือนกระดูกแข็งที่ต้องออกแรงเคี้ยว

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการปฏิรูปมากกว่า 2,000 รายการ ซึ่งช่วยให้ประเทศสามารถขจัดความยากจนขั้นรุนแรง ส่งเสริมการพัฒนาเมือง-ชนบทเชิงบูรณาการ ต่อสู้กับการทุจริตคดโกง สนับสนุนการประกอบธุรกิจ กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดัน “การปฏิวัติเขียว”

เนื่องด้วยมาตรการปฏิรูปเหล่านี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเสริมสร้างสถานะของจีนในการเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมการเติบโตรายสำคัญของโลก

ปัจจุบันจีนต้องเพิ่มความพยายามเป็นพิเศษ ยามเผชิญกับความต้องการมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและความท้าทายใหญ่ต่างๆ เช่น แรงกดดันจากเศรษฐกิจขาลงหลังจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กอปรกับความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และสถาบันการเงินขนาดเล็ก-ขนาดกลางบางส่วน

เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและประเทศชาติ สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าการปฏิรูปและเปิดกว้างเป็น “วิธีการสำคัญ” สู่การบรรลุการสร้างความทันสมัยของจีนและสานต่อปาฏิหาริย์ทางการพัฒนาของประเทศ

สีจิ้นผิงเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิรูปในการประชุมของกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ เมื่อเดือนมกราคม และสำทับถึงความจำเป็นในการปฏิรูปภาคส่วนต่างๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการประชุมประจำปีของสภานิติบัญญัติและหน่วยงานที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงสุดของชาติในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา

“การปฏิรูปเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนา” สีจิ้นผิงกล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยสีจิ้นผิงยังจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หวงฮั่นเฉวียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมข้างต้น กล่าวว่าสีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างมากและมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปทั้งหมดเป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้สีจิ้นผิงกล่าวกับสมาชิกชุมชนธุรกิจ ยุทธศาสตร์ และวิชาการของสหรัฐฯ ที่เยือนกรุงปักกิ่งในฤดูใบไม้ผลินี้ว่าจีนกำลังวางแผนและดำเนินการตาม “ขั้นตอนสำคัญของการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น” โดยจีนจะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาด อ้างอิงกฎหมาย และเป็นสากลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่การพัฒนาแก่ธุรกิจของสหรัฐฯ และนานาชาติ

ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังคงเหมือนเดิมตลอดมา

ปี 1969 เมื่อครั้งสีจิ้นผิงอายุสิบห้าย่างสิบหกปี เขาถูกส่งตัวไปยังหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเพื่อใช้แรงงานในพื้นที่เกษตรกรรม ที่ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับความหิวโหย โดยปณิธานของสีจิ้นผิงวัยหนุ่มตอนนั้นคือทำให้สหายร่วมหมู่บ้านมีข้าวปลาอาหารกินอย่างเพียงพอ

การสนับสนุนการปฏิรูปอย่างแรงกล้าของสีจิ้นผิงยังมาจากความปรารถนามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน โดยมาตรการปฏิรูปต่างๆ ที่สีจิ้นผิงดำเนินการในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ประจำหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการใช้ก๊าซชีวภาพ ตั้งร้านตีเหล็ก และเปิดร้านขายของชำ ล้วนมุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นพ่ออย่างสีจ้งซวิน นักปฏิวัติเก่าและผู้สนับสนุนการปฏิรูปและเปิดกว้าง โดยปี 1978 สีจ้งซวินได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน และช่วยสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชุดแรกของจีน ซึ่งประกอบด้วยเซินเจิ้น จูไห่ และซ่านโถว

ปีเดียวกันนั้นสีจ้งซวินมอบหมายให้สีจิ้นผิง ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ดำเนินการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือนในมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน โดยสีจิ้นผิงบันทึกข้อมูลจนเต็มสมุดที่ยังคงถูกเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้

ชื่อเสียงของสีจิ้นผิงในฐานะนักปฏิรูปเพิ่มพูนตามความก้าวหน้าบนเส้นทางอาชีพทางการเมืองของเขา

ช่วงต้นทศวรรษ 1980 สีจิ้นผิงริเริ่มการทดลองปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง ซึ่งเป็นอำเภอยากจนในมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน โดยเขาทดลองจัดทำสัญญาที่ดินในชนบท ทำให้อำเภอเจิ้งติ้งเป็นพื้นที่แรกของเหอเป่ยที่ปรับใช้แนวทางดังกล่าว

บทความที่เผยแพร่ผ่านนิตยสารไชน่า ยูธ (China Youth) ในปี 1985 บรรยายรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของอำเภอเจิ้งติ้งโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของเลขาธิการพรรคฯ ระดับอำเภอจากมณฑลใกล้เคียงที่เยือนอำเภอเจิ้งติ้งที่ว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นทุกที่จนประชาชนท้องถิ่นไม่ต้องร้องขอ

“หากมองย้อนกลับไปตอนนั้น สิ่งหนึ่งที่ทำสำเร็จคือการปลดปล่อยความคิด” สีจิ้นผิงกล่าวถึงการปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง

ต่อจากอำเภอเจิ้งติ้ง สีจิ้นผิงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่นครเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งเขาเป็นผู้นำการจัดตั้งธนาคารร่วมทุนแห่งแรกของจีนอย่างเซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชันแนล แบงก์ (Xiamen International Bank) และหลังจากก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยน สีจิ้นผิงเป็นผู้นำการปฏิรูปการครอบครองป่าไม้ร่วมกัน ซึ่งถูกปรับใช้ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศในเวลาต่อมา โดยแผนริเริ่มนี้เป็นที่รู้จักในฐานะอีกหนึ่งขั้นตอนการปฏิวัติพื้นที่ชนบทของจีน ต่อจากระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือน

ช่วงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลเจ้อเจียง สีจิ้นผิงนำเสนอแผนริเริ่มเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผ่านการยกระดับอุตสาหกรรม โดยเขาสนับสนุนธุรกิจเอกชนอย่างแข็งขันและกระตุ้นนักธุรกิจ “ติดต่อโดยตรง” ที่สำนักงานของเขาเพื่อขอความช่วยเหลือ รวมถึงขยายการปฏิรูปนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองไปยังเรื่องสังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศด้วย

การขึ้นชื่อเป็นนักปฏิรูปของสีจิ้นผิงสร้างความประทับใจแก่บุคคลสำคัญระดับนานาชาติ โดยเดือนกันยายน 2006 เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในเวลานั้น ได้เดินทางเยือนจีนและเลือกนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง เป็นจุดหมายแรก

พอลสันยกให้สีจิ้นผิงเป็น “ตัวเลือกอันสมบูรณ์แบบ” สำหรับการประชุมครั้งแรกของเขาในจีน พร้อมบรรยายว่าสีจิ้นผิงเป็น “คนที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย” และต่อมาพอลสันที่พบปะหารือกับสีจิ้นผิงอีกครั้งในปี 2014 เล่าว่าผู้นำจีนคนนี้เผยว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการปฏิรูปและประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ปี 2007 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ สีจิ้นผิงเล็งเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้สู่การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันในฐานะศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของเซี่ยงไฮ้ในฐานะผู้นำการปฏิรูปและเปิดกว้าง

หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคฯ ในปี 2012 สีจิ้นผิงตรวจเยี่ยมนครเซินเจิ้นเป็นแห่งแรกตามรอยผู้เป็นพ่อ ที่ซึ่งเขาได้วางกระเช้าดอกไม้ ณ รูปปั้นสัมฤทธิ์ของเติ้งเสี่ยวผิงในสวนสาธารณะเหลียนฮวาซาน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นปฏิรูปอย่างแรงกล้า “เดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง!”

การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 18 ในปี 2013 ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ถือเป็นหมุดหมายสำคัญเหมือนการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 11 ในปี 1978 ซึ่งเปิดฉากยุคสมัยแห่งการปฏิรูป โดยการประชุมในปี 2013 เปรียบดังรุ่งอรุณของยุคสมัยใหม่แห่งการปฏิรูป

การประชุมเต็มคณะฯ ในปี 2013 สีจิ้นผิงแจกแจงความท้าทายต่างๆ ที่จีนเผชิญระหว่างการพัฒนา ทั้งการทุจริตคดโกง การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยสีจิ้นผิงตอกย้ำว่า “กุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ที่การปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

ที่ประชุมข้างต้นได้ตัดสินใจใน “ประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ซึ่งหนังสือพิมพ์ของสเปนแสดงความคิดเห็นว่าสีจิ้นผิงได้ริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารของจีนอย่างลึกซึ้งมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

หนึ่งเดือนถัดจากนั้น จีนประกาศจัดตั้งกลุ่มผู้นำส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Leading Group for Comprehensively Deepening Reform) โดยมีสีจิ้นผิงชี้นำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรรคฯ ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานผู้นำในส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปโดยเฉพาะ โดยกลุ่มผู้นำฯ พัฒนาเป็นคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Commission for Comprehensively Deepening Reform) ในเวลาต่อมา โดยมีสีจิ้นผิงเป็นผู้อำนวยการ

บุคคลผู้ใกล้ชิดกับกระบวนการตัดสินใจเผยว่าสีจิ้นผิงเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการปฏิรูปที่สำคัญและยากลำบาก และสีจิ้นผิงพิจารณาทบทวนร่างแผนการปฏิรูปที่สำคัญแต่ละร่างอย่างละเอียดถี่ถ้วนชนิดแก้ไขคำต่อคำ

บุกป่าฝ่าดงพงไพร แม้รู้ว่ามีเสือสิงห์

การปฏิรูปที่นำโดยสีจิ้นผิงตั้งอยู่บนข้อคิดพิจารณาอันรอบคอบ ซึ่งได้จากการปฏิบัติงานนานหลายปีและมีการออกแบบชั้นยอด โดยสีจิ้นผิงอ้างอิงสำนวนจีนโบราณที่ว่า “ละทิ้งสิ่งเก่า เปิดรับสิ่งใหม่” เพื่อเรียกร้องการลงมือทำ พร้อมเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่คือวัฒนธรรมโดยเนื้อแท้ของชนชาติจีน

สีจิ้นผิงมีความคิดทะลุปรุโปร่งเกี่ยวกับทิศทางของการปฏิรูป ตักเตือนเรื่องการลอกเลียนแบบระบบการเมืองของประเทศอื่นๆ และกล่าวว่าการปฏิรูปที่ไม่ได้วางแนวทางตามระบอบสังคมนิยมจะนำสู่ “ทางตัน” เท่านั้น

“สิ่งที่มิควรเปลี่ยนแปลงย่อมต้องธำรงรักษาไว้ดังเดิม” สีจิ้นผิงกล่าว พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นในการสนับสนุนภาวะผู้นำโดยรวมของพรรคฯ ในการเดินหน้าการปฏิรูป

สำหรับสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง สีจิ้นผิงเรียกร้องการลงมือทำอย่างจริงจังและกระตุ้นการสร้างสภาพแวดล้อมอันเอื้อต่อการปฏิรูป ซึ่งงานที่ต้องทำประกอบด้วยการขจัดอุปสรรคทั้งปวงที่จำกัดพลังความมีชีวิตชีวาขององค์กรธุรกิจและขัดขวางบทบาทของตลาด

การปฏิรูปของสีจิ้นผิงมีขอบเขต ขนาด และความเข้มข้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ครอบคลุมเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม ระบบนิเวศ การสร้างพรรคฯ การป้องกันประเทศ การทหาร และอื่นๆ

สีจิ้นผิงพัฒนาวิธีวิทยาสำหรับการปฏิรูปในยุคใหม่ นั่นคือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการปลดปล่อยความคิดกับการแสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง ระหว่างการสร้างความก้าวหน้าโดยรวมกับการสร้างความคืบหน้าในด้านสำคัญ ระหว่างการออกแบบชั้นยอดกับการคลำหินข้ามลำน้ำ ระหว่างการโลดโผนโจนทะยานกับการย่างก้าวอย่างมั่นคง รวมถึงการสร้างสมดุลของการปฏิรูป การพัฒนา และเสถียรภาพ

สีจิ้นผิงเน้นย้ำการดำเนินการปฏิรูปแบบองค์รวม เป็นระบบ และสอดประสาน ตลอดจนเคารพจิตวิญญาณการริเริ่มของประชาชน และกล่าวกับเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐว่า “เปิดรับสิ่งใหม่ก่อนละทิ้งสิ่งเก่า” รวมถึงควบคุมจังหวะและความเข้มข้นของการปฏิรูปอย่างเหมาะสมเพื่อผลลัพธ์อันดี

“ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงปรับปรุงแนวคิดการวัดความสำเร็จของการพัฒนา ซึ่งมักดูจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และช่วยให้เกิดการปฏิรูปที่ทลายผลประโยชน์อันมิชอบของคนบางส่วนอย่างแท้จริง” เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งจากมณฑลส่านซีกล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐคนนี้หวนนึกถึงตอนที่สีจิ้นผิงสั่งการสอบสวนหลายครั้งเพื่อหยุดยั้งการก่อสร้างบ้านพักขนาดใหญ่อย่างผิดกฎหมายของกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเทือกเขาฉินหลิ่ง ซึ่งสะท้อนการขัดขวางการปฏิรูปด้านนิเวศวิทยาของท้องถิ่นในตอนนั้น

สีจิ้นผิงเผชิญความยากลำบากระหว่างผลักดันการปฏิรูปและจำเป็นต้องทลายสิ่งกีดขวางที่เกิดจากผลประโยชน์อันมิชอบ โดยสีจิ้นผิงกล่าวว่าเราจำเป็นต้องกล้าหาญบุกป่าฝ่าดงพงไพร แม้รู้อยู่เต็มอกว่ามีสัตว์ร้ายอย่างเสือสิงห์ และผลักดันการปฏิรูปไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

ในระยะเวลาไม่ถึง 20 วัน หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด สีจิ้นผิงกำหนด “กฎระเบียบ 8 ประการ” ที่มุ่งปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานของพรรคฯ และเจ้าหน้าที่รัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังต่างๆ ในระบบเจ้าขุนมูลนาย เช่น สิทธิพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ การจัดงานเลี้ยงฟุ่มเฟือย และการใช้เงินภาษีอย่างสิ้นเปลืองรูปแบบอื่นๆ โดยกฎระเบียบเหล่านี้ได้รับยกย่องเป็น “ตัวพลิกสถานการณ์” การบริหารปกครองของจีน

สีจิ้นผิงริเริ่มปราบปรามการทุจริตคดโกงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยสีจิ้นผิงชี้ว่าการต่อสู้กับการทุจริตคดโกงเป็นประโยชน์ต่อการชำระล้าง “ระบบนิเวศทางการเมือง” และ “ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ” รวมถึงนำสู่การจัดระเบียบตลาดและฟื้นฟูตลาดให้มีสภาพอย่างที่ควรจะเป็น

โครงการปราบปรามการทุจริตคดโกงอย่างไม่ลดละล่าถอยแม้แต่ก้าวเดียวของจีนยังคงดำเนินต่อไป โดยช่วงปีที่ผ่านมา จีนได้ปราบปรามการทุจริตคดโกงในหลายภาคธุรกิจ ทั้งการเงิน อุปทานธัญพืช การดูแลสุขภาพ การผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ และกีฬา

มีการสืบสวนสอบสวนหรือดำเนินคดีความกับบุคคลนับร้อย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ผู้บริหารธนาคาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือแม้แต่ประธานสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศจีน และอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาฟุตบอลชายทีมชาติ

สีจิ้นผิงสนับสนุนความจำเป็นในการปฏิรูปพรรคฯ โดยเรียกร้อง “การปฏิวัติตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากที่สุด”

ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง มีการสร้างระบบกำกับตรวจสอบตัวเองของพรรคฯ อย่างสมบูรณ์และเข้มงวด ก่อให้เกิดระบบกำกับควบคุมพรรคฯ ที่เป็นรูปเป็นร่าง โดยสีจิ้นผิงยกระดับระบบตรวจสอบและจัดตั้งระบบกำกับดูแลระดับชาติ ซึ่งจำกัดอำนาจอยู่ภายในกรอบสถาบัน รวมถึงริเริ่มการปฏิรูปสถาบันของพรรคฯ และรัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

หลี่จวินหรู อดีตรองประธานโรงเรียนพรรคฯ แห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ ระบุว่าการปฏิรูปดังกล่าวเป็นที่จับตามองมากที่สุดในกระบวนการปฏิรูปทั้งหมดของจีน โดยสีจิ้นผิงใช้การปฏิรูปมาจัดการความท้าทายเฉพาะที่พรรคฯ เผชิญ และสร้างพรรคการเมืองตามลัทธิมากซ์ที่แข็งแกร่งและทรงพลังยิ่งขึ้น

การปฏิรูปนี้รื้อถอนผลประโยชน์อันมิชอบเพิ่มเติม โดยสีจิ้นผิงเรียกร้องการแก้ไขปรับปรุงที่อาจขัดแย้งกับคนไม่กี่พันคน แต่เป็นประโยชน์กับประชาชนชาวจีน 1,400 ล้านคน

หลิวปิ่งเซียง อาจารย์ประจำโรงเรียนพรรคฯ แห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ อธิบายว่าสีจิ้นผิงขับเคลื่อนการปฏิวัติตนเองของพรรคฯ เพื่อชี้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยพรรคฯ ดำเนินแผนริเริ่มขจัดข้อบกพร่องเชิงสถาบันในการพัฒนาสังคมเพื่อปลดล็อกพลังการผลิต

สำหรับเรื่องนี้ สีจิ้นผิงสนับสนุนการเดินหน้าบริหารปกครองบนพื้นฐานของกฎหมายอย่างเต็มที่ มุ่งแก้ไขสารพันปัญหาที่มีมานานอย่างปัญหาอำนาจอยู่เหนือกฎหมายและปัญหาสายสัมพันธ์ส่วนตัวทำลายหลักการทางกฎหมาย

ครั้งหนึ่งสีจิ้นผิงกล่าวตำหนิปรากฏการณ์ “เงินซื้อการละเว้นโทษและซื้อชีวิต” และเคยกล่าวว่า “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมเป็นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความน่าเชื่อถือและหลักนิติธรรม”

สีจิ้นผิงสั่งการกำหนดและแก้ไขกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายปราบปรามการผูกขาด ซึ่งเป็นรากฐานทางกฎหมายสำหรับระบบตรวจสอบการแข่งขันที่เป็นธรรม

นอกจากนั้นมีการปรับปรุงระบบกฎหมายสำหรับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยปี 2020 ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเกตบอลระดับตำนานของสหรัฐฯ ชนะการฟ้องร้องคดีความในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนำสู่การสั่งให้บริษัทจีนหยุดใช้คำภาษาจีน “เฉียวตาน” ที่หมายถึงจอร์แดน ในชื่อและเครื่องหมายการค้า

การปฏิรูปของสีจิ้นผิงมิเพียงนำสู่การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ โดยสีจิ้นผิงยืนยันว่าแก่นแท้ของการสร้างความทันสมัยอยู่ที่ความทันสมัยของประชาชน การบ่มเพาะ “ความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจในชาติ” ในหมู่ประชาชนชาวจีนจึงกลายเป็นเป้าประสงค์หลักของการปฏิรูป

ปี 2012 สีจิ้นผิงผนวก “ความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรม” เข้าสู่รายงานที่เสนอต่อการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯ ครั้งที่ 18 และต่อมาสีจิ้นผิงบูรณาการแนวคิดนี้เข้าสู่ “สี่ความเชื่อมั่น” ของสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์จีน พร้อมบรรยายว่าความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมเป็น “พลังพื้นฐานอันลึกซึ้งและยืนยงยิ่งขึ้น”

การปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังแสดงการปรับปรุงลัทธิมาร์กซ์เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ บูรณาการหลักคำสอนพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์เข้ากับความเป็นจริงเฉพาะและวัฒนธรรมดั้งเดิมอันดีงามของจีน ส่งผลให้การปฏิรูปของจีนสร้างนัยสำคัญเชิงปรัชญาใหม่

ในสารอวยพรปีใหม่ 2017 สีจิ้นผิงกล่าวว่า “เค้าโครงหลักของการปฏิรูป ซึ่งเปรียบเหมือนคานสี่อันและเสาแปดต้นของบ้าน ได้ตั้งขึ้นโดยพื้นฐานในหลายด้าน” โดยสำหรับผู้คุ้นเคยกับสถาปัตยกรรมจีนโบราณ สิ่งนี้บ่งชี้ความเป็นรูปเป็นร่างของตัวบ้านที่สามารถประดับตกแต่งเสริมสร้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สีจิ้นผิงได้กำกับทิศทางการปฏิรูปสู่เป้าหมายสำคัญสูงสุด นั่นคือการสนับสนุนและยกระดับระบบสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์จีน และสร้างความทันสมัยแก่ระบบและขีดความสามารถทางการบริหารปกครองของจีน

สิ่งนี้จึงเป็นกระบวนการระยะยาวและท้าทายอย่างมิต้องสงสัย

นักปฏิรูปเท่านั้นที่ก้าวหน้า นักสร้างสรรค์เท่านั้นที่รุ่งเรือง

ปีที่สีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีของจีนหดตัวจนต่ำกว่าร้อยละ 8 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999

วิกฤตหนี้สินในยุโรปส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของจีนอย่างรุนแรง และการกำกับควบคุมด้านอสังหาริมทรัพย์ฉุดรั้งอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศ โดยนักวิเคราะห์ของธนาคารต่างชาติคนหนึ่งบอกว่า “เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญช่วงวิกฤตที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี”

ทว่าด้วยความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สีจิ้นผิงได้บ่งชี้ทิศทางของการปฏิรูป พร้อมเชื่อมั่นว่าการพัฒนายังคงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด และจัดวางการส่งเสริมการพัฒนาเป็นพันธกิจสำคัญระดับสูงสุดในแผนการปฏิรูปต่างๆ

สีจิ้นผิงชี้ว่าเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนา และนำเสนอปรัชญาการพัฒนาใหม่ ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างสร้างสรรค์ สอดประสาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดกว้าง และแบ่งปัน โดยสีจิ้นผิงริเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างอุปทาน ผลักดันเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และดำเนินการสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่

เมื่อกล่าวถึงนัยสำคัญของการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงโครงสร้างอุปทาน สีจิ้นผิงยกตัวอย่างกรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนซื้อที่นั่งโถชำระล้างและหม้อหุงข้าวอัจฉริยะจากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่หรือที่มีคุณภาพสูงจากตลาดภายในประเทศ ขณะผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศบางส่วนต้องดิ้นรนหาลูกค้า

การปฏิรูปโครงสร้างอุปทานนานหลายปีภายใต้การกำกับดูแลของสีจิ้นผิง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยจีนรุ่นใหม่ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบบประหยัดพลังงาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุปกรณ์กีฬาที่ทำจากวัสดุใหม่ และเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่

ขณะเดียวกันมีการแก้ไขปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในบางภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้าตัดลดกำลังการผลิตที่ล้าสมัยและเกินความจำเป็นรวมราว 300 ล้านตัน เมื่อนับถึงสิ้นปี 2022 ซึ่งสูงกว่าผลผลิตเหล็กกล้าดิบทั้งหมดของอินเดียในปีนั้นถึงสองเท่า

สีจิ้นผิงเป็นผู้นำการปฏิรูปโครงสร้างอุปทานด้วยการลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างพร้อมกับมองการณ์ไกล โดยเมื่อครั้งตรวจเยี่ยมเอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนในปี 2014 สีจิ้นผิงเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการอันหลากหลาย และความสำคัญของยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ในการเสริมสร้างสถานะของจีนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะตอนนั้นยานยนต์ส่วนใหญ่บนท้องถนนของจีนยังใช้น้ำมันเบนซิน

ช่วงทศวรรษถัดมา สีจิ้นผิงกลายเป็นแฟนตัวยงของยานยนต์ไฟฟ้า ได้เยี่ยมเยือนบริษัทยานยนต์ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และแสดงความสนใจจะทดลองยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พัฒนาภายในประเทศอย่างมาก โดยสีจิ้นผิงกระตุ้นบรรดาผู้ผลิตยานยนต์ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และเพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันในตลาด

ข้อเท็จจริงคืออุตสาหกรรมพลังงานใหม่เป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพของสีจิ้นผิง โดยวลี “พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ” ที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงครั้งแรกระหว่างตรวจเยี่ยมพื้นที่ท้องถิ่นในปีก่อน กลายเป็นคำเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ผู้คนสนใจอย่างรวดเร็ว แต่สีจิ้นผิงเริ่มต้นลงมือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว

ย้อนกลับช่วงทศวรรษ 1970 ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอในมณฑลส่านซี สีจิ้นผิงเป็นคนแรกของมณฑลที่ริเริ่มใช้โรงผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งอาจจัดเป็น “พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ” ในตอนนั้น ช่วยให้ชาวบ้านมีพลังงานสะอาดไว้ใช้สร้างแสงสว่างและประกอบอาหารแทนการเผาฟืนและน้ำมันแบบดั้งเดิม

สีจิ้นผิงเป็นผู้เชื่อมั่นในลัทธิมาร์กซ์อย่างหนักแน่นและมองว่าแนวคิดพลังการผลิตเป็น “สาเหตุรากฐานของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองทั้งหมด”

การพัฒนาพลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และคุณภาพสูง ถือเป็นแรงกระตุ้นจากผู้กำหนดนโยบายของจีนในการเกาะกระแสคลื่นลูกใหม่ของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในวงการต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ชีววิทยาสังเคราะห์ เทคโนโลยีนาโน และสารสนเทศเชิงควอนตัม รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอันขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สีจิ้นผิงนำเสนอ

สีจิ้นผิงเปรียบเปรยการขาดแคลนความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอันแข็งแกร่งเป็น “จุดอ่อน” ของยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีน และชี้ว่า “มีเพียงนักปฏิรูปเท่านั้นที่ก้าวหน้า นักสร้างสรรค์เท่านั้นที่รุ่งเรือง และผู้ที่ปฏิรูปและสร้างสรรค์จะคว้าชัยชนะ”

การปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้การชี้นำของสีจิ้นผิงก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการใช้ประโยชน์จากระบบใหม่ในการระดมทรัพยากรทั่วประเทศมาเกื้อหนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญ จัดตั้งห้องปฏิบัติการระดับชาติชุดแรก และเสริมสร้างบทบาทของผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ผลลัพธ์จากการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นปรากฏชัดเจน โดยอันดับของจีนในดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ก้าวกระโดดจากอันดับ 34 ในปี 2012 เป็นอันดับ 12 ในปี 2023

ข้อมูลในปี 2023 ระบุว่าจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่มีส่วนส่งเสริมการเผยแพร่บทความวิจัยในกลุ่มวารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงของเนเจอร์ อินเด็กซ์ (Nature Index) เป็นครั้งแรกในปี 2022

แม้เผชิญการกดขี่และคว่ำบาตรด้านชิปจากสหรัฐฯ หลายปี แต่ยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของจีนอย่างหัวเหวย (Huawei) สามารถเปิดตัวสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์หลายรุ่นในปี 2023 ซึ่งหลายฝ่ายมองเป็นบทพิสูจน์ว่าความพยายามของประเทศตะวันตกบางส่วนที่หวังจำกัดควบคุมภาคเทคโนโลยีของจีนนั้นแทบไม่ได้ผล

อย่างไรก็ดี มีงานอีกมากมายที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง สีจิ้นผิงเตือนว่า “การวิจัยพื้นฐานเป็นแหล่งที่มาของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี แม้จีนได้สร้างความก้าวหน้าสำคัญในการวิจัยพื้นฐาน แต่ยังคงห่างชั้นจากการวิจัยขั้นสูงในระดับนานาชาติอย่างชัดเจน

สีจิ้นผิงเรียกร้องการปฏิรูปเชิงระบบเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่การวิจัยพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมตั้งต้น และเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ ล้ำสมัย และสร้างความเปลี่ยนแปลง

ปล

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม