วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 20:08 น.
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๖ และเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการ “Thailand Against Cancer as One” ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๔๕ น. ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๖ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี , ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และรองประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ , รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ, ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการ และคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เข้าเฝ้ารับเสด็จ โอกาสนี้ ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ และกรรมการสรรหาและกลั่นกรอง จำนวน ๒ ชุด จากนั้น พระราชทานพระวโรกาสให้ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวประกาศสดุดีเกียรติคุณและกราบทูลเบิกผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๖ ซึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี จากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลฯ จำนวน ๑ ราย จากนั้น ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ Thailand against cancer as one และทรงรับฟังปาฐกถาพิเศษ โดยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี เกี่ยวกับผลงานด้านมะเร็งในหัวข้อ “Molecular and Nuclear Imaging in Cancer Care” ตามลำดับ
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี (Abass Alavi, MD, MD(Hon), PHD(Hon), DSc(Hon)) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๖ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาวิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รองผู้อำนวยการสาขาวิชา ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์พีเรลแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา มีผลงานด้านมะเร็งเป็นที่ประจักษ์โดยเป็นผู้คิดค้นแนวคิดในการติดฉลาก deoxyglucose ด้วยฟลูออไรด์ที่เปล่งโพซิตรอน (18F) นำไปสู่การพัฒนา fluorodeoxyglucose (FDG) ซึ่งเป็นสารเภสัชรังสีแรกที่ได้รับการอนุมัติทางคลินิกในการถ่ายภาพ PET และเป็นสารเภสัชรังสีที่ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อาแบส อะลาวี เป็นคนแรกที่นำ 18 F-FDG มาใช้ในมนุษย์ตั้งแต่ในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ และทำการถ่ายภาพสมองโดยใช้เครื่องตรวจเอกซเรย์ปล่อยโฟตอนเดี่ยวหรือ single-photon emission tomography (SPET) ที่ผลิตเอง นอกจากนี้ เขายังทำงานเกี่ยวกับการสร้างภาพของร่างกายมนุษย์ทั้งหมดผ่านเครื่องมือ rectilinear ทีมของเขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้ 18 F-FDG ในการถ่ายภาพสมองปกติและความผิดปกติของสมอง และยังได้แนะนำการใช้ 18 F-FDG สำหรับการถ่ายภาพเพทสแกนในมะเร็ง การติดเชื้อ การอักเสบ หลอดเลือดแข็งตัว การตรวจจับก้อน และความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ การถ่ายภาพด้วยเพทสแกนได้กลายเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญสำหรับโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งและความผิดปกติของระบบประสาท งานของเขาได้นำไปสู่การพัฒนาไอโซโทปรังสีที่ปลอดภัยสำหรับการถ่ายภาพ PET และการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่นำเราได้พัฒนาจากการสแกน PET-planar มาสู่ PET-CT และ PET-MRI ปัจจุบันการวิจัยของเขาเกี่ยวกับ PET ยังคงดำเนินต่อไปเพราะเขามุ่งมั่นที่จะค้นหาและพัฒนาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้ PET ในการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลก ด้วยผลงานตีพิมพ์กว่า ๑,๕๐๐ ฉบับ และการอ้างอิงมากกว่า ๗๕,๐๐๐ ครั้ง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์"
อนึ่ง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ “Princess Chulabhorn Award” เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในโอกาสทรงเจริญพระชันษา ๖๕ ปี วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็ง และดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อให้บริการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยเปิดบริการแก่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมีความเจริญก้าวหน้า มีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงเห็นควรเสนอจัดให้มีรางวัลระดับนานาชาติขึ้น เพื่อพิจารณาให้แก่ผู้มีผลงานดีเด่น เป็นที่ประจักษ์ด้านการป้องกัน ควบคุม และ/หรือดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เกิดผลดีต่อมนุษยชาติ โดยในแต่ละปีได้กำหนดให้มีการตัดสินผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ “Princess Chulabhorn Award” จำนวนหนึ่งรางวัลและเข้ารับพระราชทานรางวัลในเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยเริ่มดำเนินการให้รางวัลในปี ๒๕๖๗ นี้เป็นปีแกร เพื่อมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัย มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ในการควบคุม รักษาและการดูแลโรคมะเร็ง อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ ซึ่งมีกำหนดการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
พร้อมกันนี้ ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ จะมีการจัดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ภายใต้แนวคิด Thailand against cancer as one ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพที่สำคัญในด้านการป้องกัน ควบคุม และการดูแลรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย จากหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติและเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการด้านมะเร็งวิทยาทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และร่วมกันเผยแพร่นิทรรศการผลงานวิชาการยุทธการต้านมะเร็งในประเทศไทย ทั้งในด้านการป้องกัน ควบคุม การศึกษาวิจัยเรื่องโรคมะเร็งที่ต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรม การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ทัดเทียม
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์