หน้าแรก > เศรษฐกิจ

นายกฯ สั่งการต่อยอดความสำเร็จผลักดัน FTA อย่างต่อเนื่อง ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 02:35 น.


นายกฯ สั่งการต่อยอดความสำเร็จผลักดัน FTA อย่างต่อเนื่อง ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – สาธารณรัฐเกาหลี (KTEPA) ครั้งที่ 1 เดือนกรกฎาคมนี้ เปิดเจรจาความตกลงอย่างเป็นทางการ

วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินหน้าเพิ่มความสำเร็จจากการผลักดันความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ ต่อยอดเจรจา FTA กับมิตรประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง เน้นการเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้า ล่าสุดไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – สาธารณรัฐเกาหลี (KTEPA) ครั้งที่ 1 ระหว่าง 9 - 11 กรกฎาคม 2567 ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน สร้างแต้มต่อในการเพิ่มมูลค่าและโอกาสของสินค้าไทยในระดับสากล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการแสวงหาตลาดและโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมี  FTA รวมกันถึง 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยฉบับล่าสุดคือ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ศรีลังกา ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้มีการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่แล้ว ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ครม. มีมติเห็นชอบ (26 มีนาคม 2567) การเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ที่ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี และได้ลงนามเอกสารขอบเขตสำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง EPA ระหว่างกัน โดยการลงนามในครั้งนี้ถือเป็นการประกาศเปิดเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย–สาธารณรัฐเกาหลี (Korea-Thailand Economic Partnership Agreement : KTEPA) อย่างเป็นทางการ ต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ทั้งนี้ ในวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2567 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม KTEPA ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวก มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การค้าบริการข้ามพรมแดน การลงทุน การค้าดิจิทัล การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและธุรกิจ SME และประเด็นทางกฎหมาย รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทและธุรกิจ Startup จากสาธารณรัฐเกาหลี ให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และเทคโนโลยีสารสนเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 สาธารณรัฐเกาหลี เป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากสาธารณรัฐเกาหลี 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่งคาดว่าจากการเจรจาดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยส่งเสริมมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น ทั้งในสินค้าชนิดเดิม ต่อยอดไปยังสินค้าชนิดใหม่ๆ ผลักดันความร่วมมือทางการค้ากับประเทศพันธมิตร แลกเปลี่ยนสินค้าและเทคโนโลยีระหว่างกัน และเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทยมากขึ้นด้วย

“นายกรัฐมนตรีมีนโยบายในการเร่งรัดจัดทำความตกลงการค้าเสรี FTA กับประเทศและภูมิภาคให้มากขึ้น รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากที่มีอยู่เดิม 15 ฉบับให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งยกระดับความร่วมมือที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน พร้อมเดินหน้าเจรจา สร้างพันธมิตรทางการค้าตามกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างตลาดการค้าแห่งใหม่ให้กับสินค้า และผู้ประกอบการไทย” นายชัย กล่าว

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม