วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 เวลา 23:00 น.
นายกฯ ยินดีกับความสำเร็จระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast Service” ผ่านมือถือ ครั้งเเรกในไทย
นายกฯ ยินดีกับความสำเร็จระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast Service” ผ่านมือถือ ครั้งเเรกในไทย แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา คาดการณ์แล้วเสร็จต้นปี 2568 พร้อมสั่งการให้เดินหน้าพัฒนาระบบต่อยอดความสำเร็จ เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติในทุกพื้นที่
วันที่ 6 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง โดยทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที ช่วยสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง ทั้งยังมีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) รวมถึงรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย
สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย
1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น
3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย
4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เรื่องอุปกรณ์ และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชื่นชมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ พร้อมสั่งการให้ต่อยอดเพิ่มความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่” นายชัย กล่าว
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน