หน้าแรก > ภูมิภาค

นายกฯ เข้าพื้นที่เหตุดินสไลด์ สั่งเร่งทำฟลัดเวย์ แก้ปัญหาเร่งด่วนระยะสั้น พร้อมนำแผนที่พื้นที่สีแดง หารือปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ วางแนวทางป้องกันระยะยาว

วันที่ 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 03:13 น.


นายกฯ เข้าพื้นที่เหตุดินสไลด์ สั่งเร่งทำฟลัดเวย์ แก้ปัญหาเร่งด่วนระยะสั้น พร้อมนำแผนที่พื้นที่สีแดง เสี่ยงดินสไลด์ หารือปลัด ก.ทรัพย์ฯ วางแนวทางป้องกันระยะยาว

 (5 กรกฎาคม 2567) ต่อมาเวลา 14.20 น. นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี เดินทางต่อมาที่ บ้านหัวควนใต้ อำเภอกระทู้  จังหวัดภูเก็ต ที่ดินสไลด์เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมา โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการภูเก็ต และ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำและอธิบดีกรมทางหลวงบรรยายสรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่  จากที่มีฝนตกหนักหลายวันทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหว จนเป็นเหตุให้ดินสไลด์หลายจุด ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีอย่างน้อย 18 จุด ในพื้นที่ 3 อำเภอ 

นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้แก้ปัญหาที่จำเป็นและเร่งด่วนเป็นอันดับแรกโดยเฉพาะเรื่องของการทำ ฟลัดเวย์หรือทางระบายน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอแผนที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงดินสไลด์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อไปหารือกับนายจตุพร  บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแนวทางป้องกันทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  เพราะจะต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้น เพราะช่วงนี้ฝนก็ตกตลอดและยาวไปจนถึงเดือนกันยายน ต้องหาแนวทางป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ชาวบ้าน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดินสไลด์ พร้อมระบุว่าอยู่มา 60 ปีเพิ่งเคยมีดินสไลด์  และขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่มาดูปัญหาด้วยตนเอง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มาดูสถานที่จริงแล้ว มีหลายมาตรการที่ต้องทำ  โดยระยะสั้นเราต้องมาดูว่าพื้นที่ตรงนี้ เพราะช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ฝนจะมีปริมาณ มากกว่านี้อีก ชาวบ้านบอกว่าอยู่ที่นี่มากว่า 60 ปีไม่เคยเจอ พอมาเจอหนหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ และเราก็ไม่อยากตั้งอยู่บนความประมาท เพราะฉะนั้นเรื่องของการทำฟลัดเวย์  เรื่องการขยายร่องน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำล้นออกมาจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านนี่คือการแก้ปัญหาระยะสั้น

ส่วนระยะกลางระยะยาว จะต้องมีการตั้งศูนย์เตือนภัย แต่ชาวบ้านบอกว่าน้ำมันมาเร็ว แต่การเตือนภัยก็อาจจะช่วยได้บ้าง สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องมาดูแผนที่ทั้งหมด ว่าจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินถล่ม ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ตรงนี้เพียงพื้นที่เดียว เพราะเท่าที่ดูจากแผนที่จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอีกหลายจุด อย่างน้อย 7 - 8 จุด ที่เราต้องดูแลทั้งการทำฝาย ฟลัดเวย์ เขื่อน หรือขั้นบันได เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ให้ช้าลงซึ่งตรงนี้เป็นแผนระยะกลางและระยะยาว

เมื่อถามว่า บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดดินสไลด์ จะมีแนวทางป้องกันหรือช่วยเหลืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ก็จะเป็นส่วนหนึ่ง และบอกว่าเป็นเขตที่มีความสุ่มเสี่ยง แผ่นดินถล่ม เรามีการแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีหนทางแก้ไขได้ก็จะไม่กระทบกับชาวบ้าน

เมื่อถามว่า การบริหารจัดการของจังหวัดที่สามารถแก้ปัญหาได้ภายในวันเดียว นายกฯ พอใจแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า เชื่อว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่างที่บอกว่า 60 ปีไม่เคยเจอก็เห็นใจ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ วันนี้เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่า เมื่อช่วงต้นหน้าฝนเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ช่วงกลางและช่วงปลายฝนจะชุกมากกว่านี้ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก  และไม่ใช่ดูแค่ตรงนี้เพียงเดียว ยังมีพื้นที่สุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมาก คืนนี้จะได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะได้ให้ท่านเป็นเจ้าภาพ บริหารจัดการเรื่องนี้ทั้งหมด

เมื่อถามว่า จะมีการนำแผนพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 54 จังหวัดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเร่งผลักดันให้เสร็จโดยเร็วหรือไม่นายกกล่าวว่า ในเรื่องเร่งด่วน ตนเชื่อว่าข้าราชการทุกคน เข้าใจถึงความเร่งด่วนอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้รอบคอบและสามารถควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งตนเชื่อว่าทั้งปลัดและอธิบดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ดูแลอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่า พื้นที่ลุ่มต่ำมีบ้านเรือนของประชาชนปลูกสร้างขวางทางน้ำจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าต้องยึดตามกฎหมาย และแผนการก่อสร้างจะต้องเชื่อมต่อกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามในแผนการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหา ต้องดูทั้งหมด ทั้งเรื่องฟลัดเวย์ ขยายทางเดินน้ำใหม่

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มาติดตามการระบายน้ำที่คลองระบายน้ำบริเวณหน้าไปรษณีย์กมลา โดยจุดนี้มีประชาชน ที่ทราบข่าวว่านายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ได้ตะโกนเรียกนายกฯและขอถ่ายรูปด้วยความดีใจ 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม