วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เวลา 23:54 น.
ปอท.ทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ Lock Star รวบนักธุรกิจเบื้องหลังเครือข่าย Call Center
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดย พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอท.
เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 4 จุด ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร , เชียงราย , นนทบุรี และ ปทุมธานี ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา กลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเครือข่ายหลอกลงทุนออนไลน์ ไฮบริดสแกม (Hybrid Scam) ตั้งแต่ระดับหัวหน้าเครือข่ายที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการศูนย์ปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และคนที่ดูแลเรื่องฟอกเงิน ซึ่งในคดีนี้ได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาพระโขนง จำนวน 6 ราย
1. MR.ZHIVEI GAO หรือ นายจีเว่ย เกา (สัญชาติจีน) อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ลงวันที่ 28 มิ.ย.67 ทำหน้าที่ระดับสั่งการ / รับผลประโยชน์
2. MR.JUE CHEN หรือ นายจู เฉิน (สัญชาติจีน) อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ลงวันที่ 8 พ.ค.67 ทำหน้าที่กลุ่มบริหารจัดการ / แปรสภาพทรัพย์สิน
3. นายธนโชติ อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ลงวันที่ 28 มิ.ย.67 ทำหน้าที่ระดับสั่งการ / รับผลประโยชน์
4. นางสาวชณัฐธิษา อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ลงวันที่ 28 มิ.ย.67 ทำหน้าที่ระดับสั่งการ / รับผลประโยชน์
5. นายศิวา อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ลงวันที่ 28 มิ.ย.67 ทำหน้าที่ระดับสั่งการ / รับผลประโยชน์
6. น.ส.ชลดา อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ลงวันที่ 28 มิ.ย.67 ทำหน้าที่ระดับสั่งการ / รับผลประโยชน์
ในความผิดฐาน “ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, สมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และ ร่วมกันฟอกเงิน”
สืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่ 2/2566 ลงวันที่ 12 ต.ค.66 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) โดยมี พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เป็นประธานอนุกรรมการและมี
พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอท. ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่าถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงให้ลงทุน โดยมีการโพสข้อความสาธารณะลักษณะชักชวนให้เข้าไปลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) ผ่านเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ปลอมขึ้นมาทั้งหมด (มีความคล้ายกับแอปพลิเคชันเทรดเหรียญดิจิทัลของจริง) โดยเสนอให้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไปลงทุน ต่อมาพบว่าไม่มีการลงทุนจริง
ซึ่งกลุ่มคนร้ายจะหลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นมา และให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่คนร้ายแจ้งเพื่อซื้อเหรียญดิจิทัล โดยทุกครั้งที่ผู้เสียหายโอนเงินไปให้กลุ่มคนร้าย ยอดเหรียญดิจิทัลจะแสดงในแอปพลิเคชันสอดคล้องกับจำนวนที่โอนเข้าไป และมีกำไรเข้ามาจากการลงทุนแสดงอยู่ในแอปพลิเคชัน ภายหลังตรวจสอบพบว่าเป็นการปลอมตัวเลขขึ้นมาทั้งหมด เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และโอนเงินเข้าไปเพิ่มอีก เมื่อผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ที่จะขอถอนเงินออกมา กลุ่มคนร้ายก็แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องภาษี และยังหลอกให้ผู้เสียหายต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มอีก ผู้เสียหายได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของกลุ่มคนร้าย จำนวน 17 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 22.4 ล้านบาท ก่อนที่กลุ่มคนร้ายจะทำการปิดเว็บไซต์ไป และบล็อกช่องทางการติดต่อทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกับกลุ่มคนร้ายได้อีก ผู้เสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอท. จึงได้ประสานข้อมูลการรับแจ้งมายังศูนย์ AOC พบว่ามีผู้เสียหายหลงเชื่อและทำการโอนเงินเพื่อลงทุนตามประกาศโฆษณาในเพจดังกล่าว และได้รับความเสียหายหลายราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันเว็บไซต์ปลอมได้ปิดเว็บไซต์ไปแล้ว
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอท. ร่วมกับ อสส. และ ปปง. ทำการสืบสวนเส้นทางการเงิน และเส้นทางของเหรียญดิจิทัลที่ได้จากการฉ้อโกงผู้เสียหายพบว่า ภายหลังจากที่ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารแล้ว กลุ่มคนร้ายจะนำเงินดังกล่าวไปซื้อเหรียญดิจิทัลแล้วโอนต่อไปยังกระเป๋าเหรียญดิจิทัลส่วนตัว หรือ Private wallet กว่า 20 กระเป๋า เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นกลุ่มคนร้ายจะมีการโอนเหรียญดิจิทัลไปรวมที่กระเป๋าเหรียญดิจิทัลกลางของคนร้าย ก่อนที่จะมีการเทขายเหรียญดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนจากเหรียญดิจิทัลให้กลายเป็นเงินบาทไทย โดยรูปแบบการกระทำความผิดของกลุ่มคนร้าย พบว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ
โดยจะแบ่งเป็น (1) หัวหน้า ทำหน้าที่ สั่งการ (2) กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่ ติดต่อพูดคุยและหลอกลวงเหยื่อ (3) กลุ่มนายหน้า จัดหาบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า รวบรวมบัญชีต่างๆ นำไปมอบให้กับกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ (4) กลุ่มบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ทำหน้าที่รับจ้างเปิดบัญชีและกระเป๋าเงินดิจิทัล (5) กลุ่มที่ทำหน้าที่ฟอกเงิน โดยนำเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงไปซื้อทรัพย์สินมีค่า และอสังหาริมทรัพย์ ต่าง ๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการ โดยเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวจีนและชาวไทย ซึ่งเป็นกลุ่มระดับสั่งการ, ผู้บริหารดูแลเรื่องฟอกเงิน และรับผลประโยชน์ สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้งสิ้นจำนวน 6 ราย ประกอบด้วยชาวจีน 2 ราย ชาวไทย 4 ราย จากนั้นนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ได้ตรวจยึดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบ เป็นของมีค่าจำนวนหลายรายการท เช่น บ้านหรู จำนวน 1 หลัง มูลค่ากว่า 12 ล้านบาท, รถยนต์ จำนวน 2 คัน, รถจักรยานยนต์ จำนวน 2 คัน, เงินสด (เงินไทยและต่างประเทศ) รวมมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท, สร้อยคอทองคำ, นาฬิกาหรู, กระเป๋าแบรนเนมด์, คอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก, โทรศัพท์มือถือ และ เหรียญดิจิทัลสกุลต่างๆ มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน