หน้าแรก > ภูมิภาค

ศุภมาส ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ชูนโยบาย 'โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร' ลดการสัมผัสสารเคมี ลดต้นทุนให้เกษตรกร

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 02:14 น.


“ศุภมาส” ลงพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ชูนโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” ลดการสัมผัสสารเคมี ลดต้นทุนให้เกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน เผยอาจใช้รูปแบบ “โดรนคนละครึ่ง” รัฐช่วยจ่ายครึ่งนึง นำร่องชัยภูมิ พร้อมระดมเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ย-สารชีวภัณฑ์ การเกษตรแม่นยำ ช่วยเกษตรกร

วันที่ 30 มิถุนายน 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่วัดบางอำพันธ์ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

โดย น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ชัยภูมิ ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่การเกษตรและเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของการทำการเกษตร เช่น เรื่องของแหล่งน้ำ การใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นต้น ตนจึงได้สั่งการให้ผู้บริหารและหน่วยงานในกระทรวง อว. ทุกหน่วยร่วมกันระดมสมองและหาวิธีการแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยนโยบายเร่งด่วนคือ การจัดหาเครื่องมือช่วยทำการเกษตรที่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งจากที่ตนคิดเร็วๆ คือนโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รูปแบบของนโยบายโดรนแก้จนเพื่อการเกษตร จะใช้โดรนที่มีอยู่แล้วจากหน่วยงานในกระทรวง หรือเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการจากหน่วยงานที่ให้ทุนมาตอบโจทย์นโยบายโดรนแก้จนเพื่อการเกษตร โดยอาจเป็นการช่วยค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายในการใช้โดรนสำหรับพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรแต่ละคน หรืออาจเรียกได้ว่านโยบาย “โดรนคนละครึ่ง” เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ”ปุ๋ยคนละครึ่ง“ ของรัฐบาล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันกระทรวง อว.มีนวัตกรรม “โดรนพ่นสารเคมีการเกษตรความแม่นยำสูง” ที่ผลิตโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการให้งบสนับสนุนการวิจัยหรือทุนแก่ผู้ประกอบการทั้งจาก บพท. เป็นต้น ซึ่งมีราคาถูกกว่า 10 เท่าจากท้องตลาด ลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรง ได้งานมากกว่าแรงคน 40 เท่า ทั้งนี้ ตนได้มอบให้ผู้บริหารกระทรวง อว.ไปศึกษาระเบียบและวิธีการให้ถูกต้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริงต่อไป

“โดยหลังจากมีการศึกษาถึงรูปแบบวิธีการที่จะนำมาช่วยเหลือเกษตรได้แล้ว นโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” อาจจะนำมาใช้นำร่องที่ จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่แรก ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมารับใช้ประชาชนตามนโยบายของกระทรวง อว. และตนที่ต้องการแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร โดยการใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาแก้จนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในช่วงนี้ที่เป็นฤดูการทำเกษตรกรรม นอกจากเรื่องโดรนแก้จนแล้ว กระทรวง อว. ยังจะนำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องของปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ เรื่องการเกษตรแม่นยำ เรื่องของนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ เรื่องของชุดตรวจโรคพืชและสัตว์ เป็นต้น มาสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรให้กับเกษตรกร“ น.ส.ศุภมาส กล่าว 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม