วันที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลา 00:54
นายกฯ หารือการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบตามนโยบายไม่ท่วมไม่แล้ง ขอทุกฝ่ายใส่ใจในการทำงานร่วมกัน
(29 มิถุนายน 2567) เวลา 17.30 น. ณ โครงการชลประทานศรีสะเกษ อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมด้วย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ รับฟังการบริหารจัดการน้ำโดยแบบจำลอง (Model) ณ บริเวณหน้าห้องศูนย์บริหารจัดน้ำ (SWOC) ก่อนรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ โดยการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งให้กับราษฎรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งที่สำคัญให้แก่ประชาชนในพื้นที่ แผนการระยะยาว 2 โครงการ วงเงินงบฯ 9,352 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการผันน้ำจากลำห้วยสำราญไปสู่ลำห้วยทา-ลำห้วยขะยูง ความยาว 30 กิโลเมตร 2) โครงการผันน้ำ (By pass) ฝั่งซ้ายลำห้วยสำราญไปสู่แม่น้ำมูล ความยาว 18 กิโลเมตร ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับหลังดำเนินการแล้วเสร็จประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้ำท่วมน้อยลง 287,600 ไร่ พื้นที่การเกษตร สิ่งปลูกสร้างเสียหายน้อยลง 93,000 ครัวเรือน เพิ่มน้ำต้นทุนให้กับจังหวัดศรีสะเกษ 140 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 55,000 ไร่ และผลกระทบกับจังหวัดอื่นน้อยลงจากการผันน้ำและก่อสร้างระบบโครงข่ายน้ำ (Water grid) ทั้งนี้ สองโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการของกรมชลประทาน อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการเร่งด่วนระยะสั้น ที่สามารถทำได้ทันทีจำนวน 108 โครงการ งบประมาณ 950 ล้านบาท
นายกฯ กล่าวว่าวันนี้มาดูการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมาก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งต้องขอบคุณทางกรมชลประทานที่สามารถทำได้ดี โดยเรื่องของงบประมาณระยะยาวที่เกี่ยวกับโครงการ ที่บอกว่าจะต้องให้เสร็จภายในปี 2569 ลงทุนหมื่นกว่าล้านบาทก็ต้องให้จบว่าจะทำอย่างไร และให้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ส่วนโครงการระยะสั้นงบประมาณ 950 ล้านบาทที่สามารถทำได้ทันทีก็ขอให้บริหารจัดการกันไป อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวนอกจากเรื่องเงินแล้วเรื่องของความใส่ใจในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการใส่ใจให้เข้าใจถึงปัญหาทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญซึ่งขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ปัญหาที่ผ่านมาไม่มี โดยปีนี้ก็อาจจะท้าทายมากยิ่งขึ้นเพราะเรื่องของน้ำก็จะมีมากขึ้นอีกหน่อย ดังนั้นต้องมีการเตรียมการเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การปล่อยน้ำ และการกักเก็บน้ำรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งนายกฯ ย้ำจะมีการเดินทางไปติดตามน้ำที่กรมชลประทานแบบ realtime อย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เพราะเรื่องของไม่ท่วมไม่แล้ง เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากอีสานตอนใต้พึ่งเรื่องของเกษตรกรรมค่อนข้างมาก ซึ่งหากต้นน้ำดี คือบริหารจัดการน้ำที่ดี พืชผลก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลเรื่องราคา เรื่องของพ่อค้าคนกลาง รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ ๆ เพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหอมแดง พริกชี้ฟ้า ข้าว หรือเรื่องของยางพารา ในช่วงที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารจัดการปีหนึ่งนั้น สถานการณ์ราคายางพาราก็ดีขึ้นมาก รวมถึงราคาหอมแดงที่ดีขึ้นกิโลกรัมละ 15 บาทแต่เราก็ไม่ลดความพยายามในการที่จะทำให้ดีขึ้นไปอีก เป็นกิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนพริกชี้ฟ้าจากกิโลกรัมละ 25 บาทเป็นกิโลกรัมละ 30 บาทหรือสูงกว่านั้นได้ ตรงนี้ได้ให้ตัวชี้วัดกับกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ ในการไปเปิดตลาดใหม่ ๆ ซึ่งหลายประเทศมีความต้องการสินค้าไทยมากทั้งเรื่องของหอมแดง หรือพริก ขณะเดียวกันเรื่องของข้าวปีที่ผ่านมาก็ราคาดีขึ้นมากเช่นกัน ทั้งนี้เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลให้ความสำคัญและสนใจเป็นอย่างยิ่ง
พร้อมกันนี้ นายกฯ ได้ฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องของไม่ท่วมไม่แล้ง การบริหารจัดการน้ำ และเรื่องของเกษตรกรรม รวมไปถึงเรื่องยาเสพติดด้วย ซึ่งจากที่ได้รับรายงานตัวเลขยาเสพติดและผู้ติดยายังเป็นตัวเลขที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะคนที่ได้รับการบำบัดแล้วยังกลับไปติดซ้ำอีกอยู่ประมาณ 8% จึงอยากให้บำบัดแล้วไม่กลับไปติดซ้ำอีกเลยให้ได้ 100% โดยขณะนี้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดนำร่องในการเป็นจังหวัดสีขาว ปลอดยาเสพติด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องมีการตัดไฟ ตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้งแต่การนำเข้า รวมถึงการให้องค์ความรู้กับนักเรียน โดยต้องมีการประสานงานกับศึกษาธิการจังหวัดเพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงปัญหาอย่างถ่องแท้ของยาเสพติด พร้อมทั้งขอฝากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ให้องค์ความรู้ให้ประชาชนเข้าใจด้วย ความเข้มแข็งของชุมชนก็มีความสำคัญเช่นกัน ถ้าเราทำให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การบริหารจัดการน้ำ ก็จะทำให้ประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดน้อยลง ทุกคนเดือดร้อนมาเยอะแล้ว GPP ของจังหวัดอีสานตอนใต้ก็ยังต่ำอยู่ ถ้าเราสามารถยกระดับส่วนนี้ขึ้นมาได้ก็จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น โดยขอให้ทุกคนทำงานเป็นทีมไทยแลนด์ ทุก ๆ ภาคส่วนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
อนึ่ง เมื่อนายกฯ เดินทางมาถึงโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้มีพี่น้องเกษตรกรชาวศรีสะเกษ จากอำเภอราษีไศล ได้มารอต้อนรับพร้อมกับมอบหอมแดงศรีสะเกษให้กับนายกฯ เพื่อเป็นของที่ระลึก เนื่องจากราคาหอมแดงเมื่อปีที่ผ่านมาราคาสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 8 บาท สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 13-15 บาท ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ภายใต้โครงการเชื่อมโยงราคาหอมแดง เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงแปลงใหญ่
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน