วันที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลา 12:33 น.
29 มิถุนายน 2567 รอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ในสาธารณรัฐยาคูเตีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซียได้ทำการผ่าซากหมาป่าที่ถูกแช่แข็งในชั้นดินเยือกแข็ง(permafrost)มานาน คาดราวอายุราว 44,000 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์รัสเซียบอกว่านี่เป็นการค้นพบครั้งแรก
ซากหมาป่าตัวดังกล่าวถูกชาวบ้านค้นพบโดยบังเอิญในปี 2021 และเพิ่งถูกนำมาให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ นายอัลเบิร์ต โปรโตโปปอฟ หัวหน้าแผนกวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ยาคูเตียกล่าวว่า นี่เป็นการค้นพบสัตว์นักล่าสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) ช่วงปลายเป็นครั้งแรกของโลก และไม่เคยมีการค้นพบในลักษณะนี้มาก่อน
สาธารณรัฐยาคูเตีย มีขนาดเทียบเท่ากับรัฐเท็กซัส มีภูมิประเทศเป็นหนองน้ำและป่าจำนวนมาก โดยเนื้อที่ราว 95% เป็นพื้นดินที่เยือกแข็งตลอดเวลา อุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวอาจลดต่ำสุดถึง -64 องศาเซลเซียส
นายโปรโตโปปอฟกล่าวอีกว่า ตามปกติแล้วสัตว์กินพืชที่นี่มักติดอยู่ในพื้นที่หนองน้ำและแข็งตาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบซากแบบสมบูรณ์ทั้งตัว นี่เป็นครั้งแรกที่พบซากสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ แต่แม้จะมีการพบซากสัตว์อายุหลายพันปีในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวเป็นเรื่องปกติ แต่ซากหมาป่าตัวนี้ก็ยังถือเป็นเรื่องพิเศษ เพราะหมาป่าเป็นนักล่าขนาดใหญ่ที่มีความคล่องแคล่วสูง
ซากหมาป่าตัวนี้ยังทำให้นักวิทยาศาสตร์รัสเซียสามารถรู้ว่ายาคูเตียเมื่อ 44,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร และเป้าหมายหลักของการผ่าซากหมาป่าคือเพื่อให้เข้าใจว่าหมาป่าตัวนี้กินอะไรเป็นอาหาร และมันมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับหมาป่าในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเรเซีย
ที่มา REUTERS