หน้าแรก > สังคม

เคาะ “ดีอี” แม่งานวางระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน - ภัยพิบัติ ผ่านมือถือ

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 02:40 น.


เคาะ “ดีอี” แม่งานวางระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน - ภัยพิบัติ ผ่านมือถือ

​ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม พ.ศ. ... และให้ ดศ. เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (25 มิถุนายน 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม พ.ศ. ... และเห็นชอบให้ ดศ. เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม (ระบบ Cell Broadcast) และเห็นชอบให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะในการพัฒนาระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างระเบียบฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการจัดระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม สำหรับรับข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งเตือนประชาชนตามกฎหมาย และส่งต่อข้อมูลนั้นไปยังอุปกรณ์สื่อสารของประชาชนผ่านระบบของผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม และกำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งเตือนประชาชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แจ้งข้อมูลโดยใช้ระบบการแจ้งเตือนข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการแจ้งข้อมูลที่สามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนรับรู้กรณีเกิดเหตุร้าย เหตุฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ในการป้องกันและลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสามารถนำข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาช่วยรองรับการตัดสินใจและสามารถบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องมีแนวทางระเบียบและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่ชัดเจนสำหรับการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม ในการบูรณาการสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาการแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

โดยในการศึกษาเกี่ยวกับการเตือนภัยระดับชาติเพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนประกอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 รวมถึงอำนาจหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ของ ปภ. ไม่ครอบคลุมเหตุฉุกเฉิน (Emergency) ทั้งหมด นอกจากนี้ การเตือนภัยในภาวะฉุกเฉินในหลาย ๆ กรณีไม่ครอบคลุมตามอำนาจหน้าที่ของ ปภ. สำหรับโครงสร้างของข้อความแจ้งเตือนภัย

ดศ. จึงได้ยกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการ และให้ ดศ. ประสานกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อลดความซับซ้อน
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม