วันที่ 27 มิถุนายน 2567 เวลา 04:54 น.
ลูกฉลามครีบดำถูกพลาสติกรัดครีบและปิดทับช่องเหงือก เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ รอดตายหวุดหวิด
วันที่ 26 มิถุนายน นายวิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร ที่ปรึกษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระหว่างการช่วยเหลือลูกฉลามครีบดำ ที่อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่
โดยระบุว่า "คลิปการช่วยเหลือ ลูกฉลามครีบดำ ณ อ่าวมาหยา” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางทีมสำรวจวิจัยฉลามครีบดำ ณ อ่าวมาหยา โครงการ Maya Bay Sharks Watch Project ทีม Thai Sharks and Rays x Mnpoc 3 x DMCR x DNP อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ได้ตรวจดู การบันทึกภาพ VDO ใต้น้ำพบเจอลูกฉลามครีบดำ มีพลาสติก ที่คาดว่าจะเป็น แหวนรองฝาพลาสติก จากแกลลอนถังน้ำมัน หรือไม่ก็เป็นถังน้ำขนาดใหญ่ รัดอยู่บริเวณ ครีบบน และครีบว่าย ปิดทับช่องเหงือก ช่องสุดท้าย เป็นพลาสติก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 เซนติเมตร มีความแข็งและหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร
ซึ่งทีมพบลูกฉลามจำนวน 2 ตัว ตัวแรก ถูกรัดอย่างหลวม ๆ จากการสังเกต VDO ซ้ำๆ อยู่หลายรอบ และหลายวัน เราคาดว่า มันสามารถ สบัด ห่วงพลาสติก ออกไปได้ด้วยตัวเองแล้ว ตัวที่สอง ห่วงพลาสติกรัดแน่น มากจนเห็นได้ชัด ว่าเริ่มเกิด รอยแผล ที่ถูกห่วงพลาสติกบาด จึงได้รีบตามหา เพื่อเร่งช่วยเหลือ
ซึ่งทางทีมได้ทำการทอดแห โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ในการจับ แต่การค้นหา และระบุตัว การต้อนมันเข้าบริเวณน้ำตื้น ใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่ง เพราะสภาพอากาศแย่ ทั้งฝนตก คลื่นลมแรง และน้ำทะเลที่ขุ่น จึงยากแก่การมองเห็น
ทั้งนี้ ลูกฉลามที่เราช่วยได้ เป็นฉลามครีบดำเพศผู้ ลำตัวยาว 50 เซนติเมตร วัดจากหัวถึงปลายหาง น้ำหนักไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม หลังจาก ตัดห่วงพลาสติกออกแล้ว มันยังมีแรงว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ ขยะพลาสติกทิ้งไว้ คือรอยแผล เป็นจุดๆ มี่เกิดจากการบาด และการถูกรัด เราหวังว่าจะเจอมันและระบุตัวมันได้จากรอยแผลนี้ (หากมันเกิดเป็นรอยแผลเป็น) ในรอบเดือนหน้า และ อยากให้ทุกคน ช่วยกันตั้งชื่อให้กับลูกฉลามตัวนี้
ฉลามครีบดำโตเต็มวัยเพียง 1 ตัว สามารถสร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศแนวปะการังได้เป็นบริเวณหลายไร่ มันคอยปกป้องแนวปะการัง 24 ชม. ตลอดชีวิตของมัน
นี่คือสื่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ การเสียเวลาช่วยลูกฉลาม 1 ตัว ให้มีชีวิตรอด ถือว่าคุ้มค่ามาก กับสิ่งที่จะได้รับกลับมา ปล.ทางทีมเรา ก็ไม่ลืมที่จะจัดการกับต้นตอของปัญหา นั้นคือขยะทะเล ที่เริ่มก่อตัวเป็นแพใหญ่ และแน่นอน มีห่วงพลาสติกหลายสิบห่วง อยู่ใน แพขยะนั้น ทางทีมสามารถเก็บกู้ขยะทะเล ในอ่าวมาหยาไปได้กว่า 70% เราเลือก เก็บสิ่งที่ดูเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลมากที่สุดก่อน
เครดิต : เฟซบุ๊กเพจ Wizchayuth Limungkoon Boonyanate