วันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 05:14 น.
นายกฯ สนับสนุนเสริมสร้างทักษะนักออกแบบรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ส่งเสริมกิจกรรม “การพัฒนานักออกแบบดีพร้อมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (DIPROM Thai Designer Lab) สร้างแบรนด์ไทยและนักออกแบบรุ่นใหม่ ส่งเสริมแบรนด์แฟชั่นไทยไประดับโลก
(20 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สนับสนุนการเสริมสร้างทักษะให้กับนักออกแบบยุคใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อ up-skill ให้ปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอดส่งเสริมการสร้างแบรนด์แฟชั่นไทย ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ และจัดกิจกรรม “การพัฒนานักออกแบบดีพร้อมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (DIPROM Thai Designer Lab) เพื่อสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงการยกระดับ พัฒนานักออกแบบ Young Designer โดยถือเป็นประเด็นที่นำมาหยิบยกในความร่วมมือระหว่างประเทศบ่อยครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับประเทศแฟชั่นชั้นนำ เพื่อยกระดับแนวทาง การทำงานของนักออกรุ่นใหม่แบบไทย ทำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) รับลูกดำเนินการจัด “กิจกรรมการพัฒนานักออกแบบดีพร้อมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” หรือ DIPROM Thai Designer Lab โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ สร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์ของตนเอง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน พร้อมก้าวสู่การเป็นแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก และได้มีการนำกลยุทธ์ในการปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (Reshape The Industry) มาใช้ เน้นการพัฒนาศักยภาพของนักออกแบบให้มีการต่อยอดความรู้ใหม่ ๆ พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมของ DIPROM มีผู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 24 คน ได้เรียนหลักสูตรที่เหมาะสำหรับการสร้างสรรค์และต่อยอดเพื่อสร้างแบรนด์ เช่น 1) การฝึกอบรมความรู้ด้านการทำธุรกิจแฟชั่น การออกแบบ สร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้า 2) การศึกษาดูงาน ในสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ 3) การจัดกิจกรรมค่ายปฏิบัติการออกแบบ (Design Lab) ที่มีการให้คำปรึกษาโดยนักออกแบบมืออาชีพ เสริมสร้างพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการสู่ระดับโลก 4) การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และตรงกับความต้องการของตลาด 5) การจัดประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบตามแนวคิด “Fashioniverse” พร้อมนำเสนอผลงานเพื่อประกวด และคัดเลือกผู้ชนะรับเงินรางวัล และโอกาสในการไปทำตลาดที่ต่างประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ได้เสร็จสิ้นและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้สัมผัสกับประสบการณ์ การสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับนักออกแบบมืออาชีพ ได้เรียนรู้จากสถานที่จริงและลงมือปฏิบัติ สร้างเสริมทักษะและประสบการณ์ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัว พัฒนาทักษะความรู้ใหม่ ทักษะที่เท่าทันกระแสสังคมโลกอยู่ตลอดเวลา รวมทั้ง ทักษะในด้านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่น ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาต่อยอด โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าแบรนด์แฟชั่นของไทยล้วนมีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก หากได้รับการพัฒนาทักษะและประสบการณ์จะช่วยต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เพื่อก้าวสู่การเป็น Soft Power ที่ได้รับความนิยมระดับโลกได้” นายชัย กล่าว