วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 02:06 น.
ผนึกกำลัง จับมือ UN ประจำประเทศไทย และร่วมลงนามความร่วมมือส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทยภูมิปัญญาไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
(20 ก.พ.66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนาม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “วันนี้เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่” เป็นพลังที่สำคัญในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาชีพเสริม และอาชีพหลักที่ก่อเกิดจากการนำภูมิปัญญาผ้าไทยของบรรพบุรุษมาส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย “ทำในสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้” เพราะความคุ้นชินของระบบอุตสาหกรรมจากการใช้สารเคมี สีเคมี มันฝังอยู่ในจิตสำนึกของวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เราพยายามพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่
“ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นในการทรงงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ผลักดันและเชื้อเชิญให้พี่น้องประชาชนได้ปรับเปลี่ยนการทำงานหาเลี้ยงชีพในด้านงานผ้า ด้วยการเลิกใช้สีเคมี เลิกใช้เทคโนโลยีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยทรงมีพระดำรัสให้ประชาชนช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยทั้ง 76 จังหวัด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้พี่น้องประชาชนพึ่งพาตนเองในเรื่องของการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกพืชให้สีธรรมชาติ มาช่วยดูแลครอบครัว ดูแลสังคม และทำให้การประกอบการเรื่องการทอผ้าประเภทต่าง ๆ เกิดความเป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะยังผลทำให้เกิดความมั่นคงของชาติและส่งผลต่อความมั่นคงของโลก เพราะการที่เราใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาตินั้นจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระประสงค์อันแรงกล้า โดยทรงแสดงออกทุกวิถีทางในการทำให้พี่น้องคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ เช่น เมื่อครั้งเสด็จทรงงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ และเมื่อผู้ประกอบการทูลเกล้าฯ ถวายผืนผ้าสวย ๆ งาม ๆ และเมื่อทรงตรัสถามจนได้ทราบว่าผ้านั้นใช้สีเคมี พระองค์ท่านจะทรงปฏิเสธแบบตรงไปตรงมา ว่าไม่รับ และขอให้ช่วยกลับไปทอ โดยใช้ผ้าที่ใช้สีธรรมชาติ แล้วค่อยนำมาถวายใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการใช้สีเคมีในการทอผ้ามาสู่การใช้สีธรรมชาติ
นอกจากนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงอนาคตของการดำรงชีวิตของประชาชน จึงพระราชทานแนวพระดำริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ผ่านกระทรวงมหาดไทย ทั้งการน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เช่น การบริหารจัดการขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจะรับรองในวันที่ 28 ก.พ. 66 นี้ว่าถังขยะเปียกสามารถนับจำนวนหน่วยการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยายกาศของโลกเป็นคาร์บอนเครดิตได้ รวมถึงการลดความหิวโหย ความอดอยาก และการสร้างความเท่าเทียม ทำให้ผู้คนในหมู่บ้าน/ชุมชน องค์กร สถาบันการศึกษา และพี่น้องประชาชน มาเป็น Partnership ทำสิ่งที่ดี เพื่อ Change for Good เฉกเช่นที่พวกเรามาพร้อมหน้ากันในวันนี้ ด้วยความภาคภูมิใจ
ขณะที่ นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความร่ววมือนี้จะเกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่สู่การผลิตผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับการยอมรับในระดับโลกต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากภาคส่วนสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนระหว่างร้อยละ 6 - ร้อยละ 8 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก และจะเป็นประโยชน์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากอีกด้วย เพราะสตรีไทยผู้ทอผ้าเกือบ 2,000,000 คนที่ทำงานผ่านกลุ่มทอผ้ากว่า 100,000 กลุ่มที่ผลิตผ้าและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการนี้ นอกจากนี้ ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ได้ดำเนินการสนับสนุนการคัดแยกขยะทั่วประเทศ และความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน อ้างอิงจากการตรวจติดตามคุณภาพโดยหน่วยงานภายนอกนั้น แสดงให้เห็นว่าการขยายมาตรการการแยกขยะและการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนไปยังกว่า 12 ล้านครัวเรือนจะนำไปสู่การลดคาร์บอนกว่า 530,000 ตัน และเกิดเป็นคาร์บอนเครดิต โดยคาร์บอนเครดิตเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนยกระดับการคัดแยกขยะในชุมชนและการทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก