วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 12:16 น.
รัฐบาลเปิดทำเนียบฯ ร่วมฉลองความสำเร็จ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ชี้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน พร้อมเตรียมผลักดันสู่เจ้าภาพ World Pride 2030
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 รัฐบาลเปิดทำเนียบร่วมเฉลิมฉลองและแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านวุฒิสภา โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงาน พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอกย้ำเป็นความสำเร็จจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียม อันจะเป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็น Pride Friendly Destination และก้าวสู่การเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Pride 2030
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน และประเทศที่สามในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยในวันนี้ได้ผ่านขั้นตอนเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุนและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกสถานะ มีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน โดยจากการดำเนินการเพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับในสังคมไทยเท่านั้น ยังเป็นการยอมรับในสังคมโลก แสดงถึงภาพลักษณ์ที่งดงามของประเทศไทยในการเสริมสร้างความเสมอภาค และพร้อมที่จะเป็น Pride Friendly Destination อันเป็นจุดหมายปลายทางที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างอบอุ่นและเท่าเทียม
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมนอกจากจะสร้างความสุขให้กับทุกคู่ที่มีความรักต่อกันแล้ว ยังเป็นการประกาศให้กับทั่วโลกได้รู้ว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์เเห่งความเท่าเทียม และนี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่มาเติมเต็มคำว่า Amazing Thailand , Paradise for All ที่จะเป็นหมุดหมายใหม่ของกลุ่ม LGBTQIAN+ จากทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ ที่มีศักยภาพทางการใช้จ่ายสูง ซึ่งททท. พร้อมต่อยอดส่งเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็น Tourism Hub และ Top LGBTQIAN+ Friendly Destination โดยร่วมแสดงจุดยืนและเฉลิมฉลองเดือนแห่ง Pride อย่างยิ่งใหญ่ ผ่านการสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตลอดเดือนมิถุนายน อาทิ มหกรรมไพรด์ทั่วประเทศ (Nation Wide Pride Festival) ซึ่งจัดขึ้น ในวันที่ 31 พฤษภาคม – มิถุนายน 2567 งาน Thailand Pride 2024 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2567, งาน Pride Nation Samui International Pride Festival ในวันที่ 24 – 29 มิถุนายน 2567, งาน LOVE PRIDE ♡ PARADE 2024 ในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เป็นต้น พร้อมร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน InterPride World Conference 2025 และ Bangkok World Pride 2030
ทั้งนี้ การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว คู่สมรสยังมีสิทธิและประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย สิทธิจัดการศพ สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิของ คู่สมรสที่มีสิทธิในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสในการกู้ร่วม เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในฐานะคู่สมรส
สำหรับบรรยากาศภายในงานเลี้ยงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายหลังร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) ผ่านการพิจารณาในวาระ 2-3 วุฒิสภา สมัยวิสามัญ ในเวลาประมาณ 17.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับหน้าที่เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรีต้อนรับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน ซึ่งเดินขบวนแรลลี่ฉลองสมรสเท่าเทียม หรือ Pride Caravan จากรัฐสภาพร้อมแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม มายังสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการจัดซุ้มนิทรรศการ และปูพรมเป็นถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม รอบทางเดินหน้าตึกไทยคู่ฟ้า การแจกของที่ระลึกสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ภายในงานให้ผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ธงจิ๋ว, พัด, สายสะพาย และเข็มกลัด เป็นต้น ขณะที่จุดไฮไลท์เช็คอิน คือ มือลมสีรุ้งขนาดยักษ์ และยังมีกิจกรรมอีกมากมายทั้ง workshop เพ้นท์สีแห่งความเท่าเทียม ตู้สติ๊กเกอร์ ซุ้มดอกไม้ และจุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม โดยมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการเข้าร่วมงานด้วยด้วย อาทิ เอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ, นายคชาภา ตันเจริญ หรือ มดดำ, นายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ วู้ดดี้, นายเขมรัชต์ สุนทรนนท์ หรือ ดีเจอ๋อง, นายธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล หรือ ดีเจบุ๊คโกะ และนายไพทูรย์ ขำขัน หรือ เจ๊แขก เจ้าของร้าน ขนมครกเจ๊แขกแหกปาก จ.นครปฐม.
ทั้งนี้ ขบวนแรลลี่ฉลองสมรสเท่าเทียมยังได้เคลื่อนขบวนต่อไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกิจกรรมวันแห่งประวัติศาสตร์ “ชัยชนะของสมรสเท่าเทียม” Bangkok Pride 2024, Celebration of Love โดยมีการเสวนาอนาคตของครอบครัวภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียม การแถลงชัยชนะของสมรสเท่าเทียม โดย คุณวาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งนฤมิตไพรด์ และ Bangkok Pride และพิธีเปิดสัญลักษณ์สมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ ณ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน