หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

รมว.สธ. สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนวัณโรค ตั้งเป้าทดสอบในมนุษย์ ภายในปี 2570 รวมทั้งใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์และผลิตเซลล์บำบัดโรคมะเร็ง

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 04:07 น.


รมว.สธ. ตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนวัณโรค ตั้งเป้าทดสอบในมนุษย์ ภายในปี 2570 รวมทั้งใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์และผลิตเซลล์บำบัดโรคมะเร็ง วิจัยสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ล่าสุด พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยาลดปวดจากกระท่อม พร้อมผลักดันการจัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องมือแพทย์ระดับชาติ สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศจากการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างครบวงจร

(18 มิถุนายน 2567) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้บริหาร เข้าร่วม โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินงานสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขด้วยการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือ MedSciTech เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจสุขภาพ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพของโลกได้ โดยมุ่งมั่นเพิ่มศักยภาพ ใน 5 ด้าน ได้แก่

1) การใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์และการแพทย์ที่แม่นยำ เพื่อยกระดับ การวินิจฉัยโรค การป้องกัน และการรักษา เช่น มะเร็งชนิดต่างๆ และโรคหายากในเด็ก 
2) การพัฒนาวัคซีนวัณโรคเพื่อแก้ไขปัญหาวัณโรคของประเทศ โดยตั้งเป้าได้วัคซีนต้นแบบ และให้มีการทดสอบในมนุษย์ภายในปี 2570

3) พัฒนาการแพทย์ขั้นสูงให้มีผลิตภัณฑ์ใช้ภายในประเทศและยกระดับสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพซึ่งขณะนี้มีเทคโนโลยีการผลิตเซลล์บำบัดชนิด Cytokine-induced killer cells (CIK) และ Dendritic cells (DC) สำหรับโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงสถานที่ผลิตและเตรียมความพร้อมในการขอเป็นสถานที่ผลิตที่ได้รับ GMP

4) พัฒนาสมุนไพรครบวงจร เพื่อให้ได้ยาจากสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยาลดปวดจากกระท่อมและคาดว่าจะขอขึ้นทะเบียน กับ อย. ในปี 2570 อีกทั้งและยังพัฒนาการตรวจความปลอดภัยและการก่อกลายพันธุ์ตามหลักการ OECD GLP เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพของสมุนไพร ในระดับ OTOP/SME ผ่านโครงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจของวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ

และ 5) พัฒนาการตรวจทางห้องปฏิบัติการในทุกระดับทุกด้านของกรมฯ ให้มีความรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ทดสอบเครื่องมือแพทย์ระดับชาติเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างครบวงจร
 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม