วันที่ 18 มิถุนายน 2567 เวลา 10:46 น.
สืบเนื่องจากผู้เสียหายเข้าใช้แอพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กใช้รูปหญิงสาว ได้มาทำการตีสนิท และมีการพูดคุยกันอย่างสนิทสนมให้เกิความเชื่อใจ ต่อมามีการขอแลกไลน์เพื่อทำการพูดคุยให้สนิทใจกันมากขึ้น คนร้ายจึงชวนให้ทดลองเทรดเหรียญคลิปโตเคอรันซี่ ซึ่งตนได้เล่นประจำ และได้เงินมาโดยตลอดซึ่งผู้เสียหาย เห็นว่าสนิทสนมกัน และเริ่มเชื่อใจ และเห็นภาพที่ส่งภาพการลงทุนได้ผลกำไรมาให้ดู จึงได้หลงเชื่อโดยคนร้ายเป็นผู้สอนวิธีการดาวน์โหลดและติดตั้งแอพลิเคชั่น ผู้เสียหายได้ทำการโอนเงินไปทั้งสิ้น 33 ครั้ง 25 บัญชี จนกระทั่งต่อมา เมื่อผู้เสียหายจะขอทำการถอนเงินจากการลงทุนนั้น ผู้เสียหายไม่สามารถทำการถอนเงิน จึงเชื่อว่าตนเองนั้นได้ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำการลงทุน สูญเสียเงินไปกว่า 20 ล้านบาท
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 เร่งสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย จนเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิด
ต่อมา วันที่ 17 มิ.ย. 67. เวลาประมาณ .11.30 น. พ.ต.อ.พิเชียรยศ อรุณพันธกุล ผกก.กก.1 บก.สอท.1 ส่งกำลังชุดสืบสวน นำโดย พ.ต.ท.กฤชณัท เหล่ากอ รอง ผกก.กก.1 บก.สอท.1 เข้าร่วมจับกุมตัว นางสาวเอ (นามสมมติ) อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งและหรือเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง”
การจับกุมในเคสที่ผ่านมาสามารถจับกุมได้แล้วไป 17 บัญชีจาก 25 บัญชี เจ้าหน้าที่เร่งสืบสวนขยายผลเพื่อตามล่าผู้กระทำผิดทั้งหมดมารับโทษให้ครบทั้งขบวนการ
อย่าได้หลงเชื่อการชักชวนลงทุนโดยลำพังโดยเฉพาะการชักชวนลงทุนกับคนในโลกออนไลน์บุคคลที่เราไม่เคยพบเจอหน้ามากก่อนเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากเพราะไม่มีอะไรมารับรองว่าเราสามารถเชื่อใจคนๆนั้นได้จริง “รู้หน้าไม่รู้ใจ ยิ่งไม่รู้หน้ายิ่งหนักใจ”