หน้าแรก > สังคม

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ออกประกาศ หนุน ‘กัญชา’ กลับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เหมือนเดิม โดยให้ควบคุมเข้มงวด และใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 04:09 น.


ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ออกประกาศ หนุน ‘กัญชา’ กลับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เหมือนเดิม โดยให้ควบคุมเข้มงวด และใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

(4 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ออกประกาศ เรื่องกัญชา โดยระบุว่า 

ตามที่ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขให้ทบทวนสถานภาพของกัญชา โดยนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดอีกครั้งนั้น

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้มีความเห็นมาตลอดว่า กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ เหมือนดาบสองคม ที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก

ในด้านของประโยชน์นั้น มีข้ออ้างและหลักฐานหลักฐานเชิงการแพทย์บางส่วน ที่แสดงว่าสารบางชนิดในกัญชา เช่น Cannabidiol (CBD) มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาต่อไปได้ แต่ยังต้องอาศัยการศึกษาเพื่อให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น ราชวิทยาลัยฯ เห็นว่าความพยายามในการพัฒนาพืชสมุนไพไทยเพื่อเป็นยารักษาโรคเป็นแนวคิดที่ดี แต่ควรมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกจนการนำไปใช้ประโยชน์ วิธีการผลิตและการศึกษาที่ถูกต้องตามหลักการของวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์และผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การใช้เพื่อทางการแพทย์จึงควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากัญชาก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะเยาวชนและหญิงตั้งครรภ์ ทั้งยังมีผลกระทบทางอ้อมในทางลบต่อสังคมอีกด้วย เช่น อุบัติเหตุและการสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น พืชกัญชาโดยเฉพาะส่วนที่มีปริมาณสาร tetrahydrocannabinol (THC) สูง ควรได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด

ราชวิทยาลัยฯ ขอให้การสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยขอให้ปรับกัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 และใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น

พร้อมกันนี้ราชวิทยาลัยฯ ขอเชิญชวนอายุรแพทย์ทุกท่านได้พิจารณาร่วมกันให้ความเห็นสนับสนุนในข้อดังกล่าว โดยร่วม

ลงชื่อ โดยวิธีการสแกนคิวอาร์โคดหรือคลิกลิงก์ข้างท้ายนี้ ภายในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ประกาศ ณ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม