วันที่ 3 มิถุนายน 2567 เวลา 10:14 น.
3 มิถุนายน 2567 สถานภาพของคนในสังคมไทยพบว่า คนโสด มีมากขึ้น ขณะที่คนมีคู่มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น
สถานการณ์คนโสด ปี 66 พบว่า 1 ใน 5 หรือราว 23.9% ของคนไทยเป็นคนโสด และ คนโสดช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 – 49 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ 40.5% สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว ข้อมูลเรื่อง "ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567" โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า สถานการณ์คนโสด ปี 2566 พบว่า 1 ใน 5 หรือราว 23.9% ของคนไทยเป็นคนโสด
คนโสดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง โดยกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรเชิงพื้นที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นที่ 50.4% กว่า 50.9% เป็นคนโสดในช่วงอายุ 15 – 25 ปี รองลงมา คือ ช่วงอายุ 26 -35 ปี สัดส่วน 29.7% ช่วงอายุ 37 – 49 ปี สัดส่วน 19.4% 1 ใน 3 ของคนโสด (32.7%) จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป แบ่งเป็น ชาย 25.7% และ หญิง 42%
สัดส่วนคนแต่งงานในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ปี 60 – 66 พบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2560 ที่อยู่ที่ 57.9% ลงมาอยู่ที่ 52.6% ในปี 2566
อีกทั้ง สัดส่วนการแต่งงานยังลดลงต่อเนื่อง และ คู่รักมีการหย่าร้างในอัตราที่สูงขึ้น
พบว่า การหย่าร้างในวัยเจริญพันธุ์ เพิ่มขึ้นกว่า 22% จากปี 2560 อยู่ที่ 0.3 ล้านคู่ เพิ่มขึ้นมาเป็น 0.4 ล้านคู่ในปี 2566
คนครองตัวเป็นโสดมากขึ้น เป็นประเด็นท้าทายสำคัญต่อเป้าหมายการเพิ่มประชากร หากไทยต้องการส่งเสริมให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมีคู่ของคนโสดด้วย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นโสด ได้แก่
1. ค่านิยมทางสังคม ค่านิยมสมัยใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการ/พฤติกรรมของบุคคลที่หลากหลาย และส่งผลให้มีแนวโน้มการใช้ชีวิตเป็นโสดเพิ่มขึ้น อาทิ "SINK (Single Income, No Kids)" คนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก เน้นใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มความสุขให้ตนเอง โดยประเภทค่าใช้จ่าย ด้านตัวเงินที่สำคัญ คือ อาหาร การเดินทาง ติดต่อสื่อสาร และอื่นๆ อาทิ เบี้ยประกันภัย ทำบุญ เป็นต้น "PANK (Professional Aunt, No Kids)" กลุ่มผู้หญิงโสดที่อายุ 30 ปีขึ้นไป มีรายได้/อาชีพการงานดี ไม่มีลูก ให้ความำสคัญกับการดูแลหลาน / เด็กในครอบครัวตัวเอง กว่า 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูงและการศึกษาสูง "Waithood" คนโสดที่เลือกจะรอคอยการมีความรักต่อไป เนื่องจากความไม่พร้อม ไม่มั่นคงในสถานะทางการเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสด 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด มีสัดส่วนอยู่ที่ 37.7% ของประชากรวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมดที่มีรายได้ต่ำว่า 40% โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึง 62.6% ระดับการศึกษาไม่สูง รายได้จำกัด
2. ความต้องการ/ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้อง Hwang (2016) ระบุว่า วัฒนธรรมทางสังคมของประเทศในทวีปเอเชียส่วนใหญ่มีความคาดหวังต่อบทบาทผู้หญิงแต่งงานสูง โดยเฉพาะการเป็นแม่บ้านควบคู่กับการหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วย ขณะที่ความต้องารของแต่ละเพศ ดังนี้
ผู้หญิง
83.0% จะไม่คบผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า
76.0% จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า
ผู้ชาย
60.0% ไม่คบกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง
59.0% ไม่คบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า
3.โอกาสในการพบปะผู้คนน้อย
กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ชั่วโมงการทำงานของคนโสด เฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชม./สัปดาห์ สูงกว่าภาพรวมประเทศ ที่อยู่ที่ 42.3 ชม./สัปดาห์
4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด
การดำเนินกิจกรรมที่ผานมา เน้นไปที่คนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ ในต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และสร้างโอกาสในการมีคู่ อาทิ
สิงคโปร์ : ในปี 2561 มีการจัดทำโครงการลดคนโสด โดยจ่ายเงินให้คู่รักออกเดทอย่างน้อย 2,500 บาท เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในกิจกรรมออกเดท/บริการหาคู่
จีน : ในปี 2566 รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลเจียงซีให้การสนับสนุนแอปพลิเคชั่นหาคู่ โดยใช้ฐานข้อมูลของคนโสดที่อาศัยอยู่ในเมืองมาพัฒนาจัดทำแพลตฟอร์มบริการหาคู่ เรียกว่า Palm Guixi
ญี่ปุ่น : ในปี 2567 จัดทำแอปพลิเคชั่นหาคู่สำหรับคนโสดที่อายุมากกว่า 18 ปี และ อยู่ในโตเกียว โดยใช้ระบบ AI ช่วยวิเคราะห์หาคนที่มีความชอบใกล้เคียงกัน รวมทั้ง ยังมีระบบการยืนยันตัวตนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนคนโสดในไทยที่เพิ่มขึ้นสูง อีกทั้ง ปัจจัยต่อการเป็นโสดข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ยังมีคนโสดอีกมากที่อาจจะอยากมีคู่แต่มีอุปสรรคและข้อจำกัดที่ทำให้ต้องเป็นโสด ซึ่งไทยยังมีโอกาสในการดำเนินการสนับสนุนให้คนได้มีคู่ อาทิ
1. การสนับสนุนเครื่องมือ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการ/พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
2. การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน อาทิ คอร์สเรียนเพิ่มทักษะ Soft & Hard Skills นอกจากนี้ ยังมโอกาสพบรักในสถานศึกษาได้อีกด้วย
3. การส่งเสริมมี Work-Life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้คนโสดได้มีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ และ พบเจอคนที่มีความชอบลักษณะเดียวกัน
4. การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนโสดได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
ที่มา nesdc