วันที่ 2 มิถุนายน 2567 เวลา 05:00 น.
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม FBI ทลายองค์กรอาชญากรรมไซเบอร์ระดับโลก เสียหายกว่า 190 ประเทศ
พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. , พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. และเจ้าหน้าที่ FBI นำหมายศาลเข้าตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 4 จุดใน จ.ชลบุรี หลังได้รับการประสานจากทางการสหรัฐอเมริกาให้ช่วยทลายเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์ระดับโลก
โดยจุดแรกเป็นบ้านหลังหนึ่ง ถ.พระตำหนัก ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จุดที่ 2 ห้องพักใน คอนโดมีเนียม พื้นที่ ม.1 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จุดที่ 3 ห้องพักในคอนโดมีเนียม ม.1 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และจุดที่ 4 ห้องพัก ในคอนโดมีเนียม พื้นที่ม.1 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมตรวจยึดของกลางเงินสด สกุลเงินไทยและต่างประเทศ รวมมูลค่ากว่า 7.5 ล้านบาท , นาฬิกาหรู 13 เรือน รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท , เครื่องประดับ 23 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท , รถยนต์ BMW X7 M50d สีดำ จำนวน 1 คัน , โฉนดที่ดิน เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ และสัญญาการซื้อขาย ที่ดิน สถานที่ และคอนโด, บัญชีธนาคาร และ บริษัท Spicy Code , อุปกรณ์บันทึกข้อมูล Flash Drive ที่เชื่อว่าบันทึกข้อมูลคีย์การเข้ารหัส หรือรหัสผ่านการเข้ารหัส และอื่นๆ รวมมูลค่านับพันล้านบาท
สืบเนื่องจากทางการสหรัฐอเมริกา ขอความร่วมมือระหว่างประเทศให้ช่วยตรวจสอบและหาพยานหลักฐานของนายยุนฮี ( Yun He) ผู้ต้องหา พร้อมพวก อาชญากรออนไลน์ระดับโลกที่ถูกจับกุมในประเทศสิงค์โปร ซึ่งใช้อุปกรณ์ติดตั้งมัลแวร์ ร่วมกับเครื่องมือปกปิดที่อยู่ของเครือข่ายอาชญากร ซึ่งเรียกกันว่า 911 S5 โดยนายยุนฮี เป็นผู้ก่อตั้งและดูแลระบบหลักของ 911 S5 ทั้งหมด ขณะที่พวกที่เหลือทำหน้าที่ดูแลเอกสาร ธุรกรรมทางเงิน และตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำการฟอกเงิน จำนวน 3 บริษัท อยู่ในประเทศไทย
จากการสืบสวนพบว่าเครือข่ายนี้ได้ทำการแฮก IP Address ของคอมพิวเตอร์ 19 ล้านเครื่อง ในกว่า 190 ประเทศทั่วโลก สร้างความเสียหายมหาศาล และยังมีการโกงเงินจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกจำนวนมาก ด้วยการแฮกเข้าคอมพิวเตอร์ของชาวอเมริกัน และทำเรื่องขอความช่วยเหลือในเรื่องสวัสดิการต่างๆ แต่เมื่อหน่วยงานรัฐอนุมัติเงินช่วยเหลือ กลับเป็นการโอนเข้าบัญชีของอาชญากร โดยที่บุคคลชาวอเมริกันคนนั้นกลับไม่ทราบเรื่องและไม่ได้รับเงินดังกล่าวแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีการแฮกเข้าไปขโมยเงิน เหรียญคริปโต โจมตีทางไซเบอร์ เรียกค่าไถ่ (Ransomeware) ด้วยการปิดกั้นการทำงานขอองค์กรใหญ่ และเรียกค่าไถ่แลกกับการให้ระบบกลับมาใช้งานได้ดังเดิม และยังใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์จากภาพอนาจารของเด็ก รวมไปถึงการขู่วางระเบิด สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนอีกด้วย ขณะเดียวกันคนร้ายกลุ่มนี้ ได้ทำการฟอกเงินที่ได้จากกิจการ ซึ่งกลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้ ได้กำไรหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐจากการบริการผิดกฎหมายและนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ ทรัพย์สินอื่น ๆ ในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดย ผู้ต้องหามีการนำทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ และบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยรวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท