หน้าแรก > ต่างประเทศ

เผยผลสอบขั้นต้นกรณีเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ SQ321 พบอากาศแปรปวน เครื่องลดระดับ 178ฟุต ภายใน 4.6 วินาที

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 11:38 น.


เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 สำนักงานสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งของประเทศสิงค์โปร์ (TSIB - Transport Safety Investigation Bureau Preliminary) เปิดเผยผลการสอบสวนขั้นต้นด้านนิรภัยการบินกรณี SQ321 โดยคณะสอบสวนฯ ซึ่งประกอบด้วย TSIB, NTSB, FAA และ Boeing ได้ทำการดึงข้อมูลจากกล่องดำของเครื่องบินและลำดับเหตุการณ์ได้ ดังนี้

1. SQ321 บินออกจากลอนดอน ในวันที่ 20 พ.ค.2567 หลังจากบินมาถึงจุดที่เกิดเหตุบริเวณประเทศเมียนมาในช่วงเวลา 14:49:21 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ขณะที่เครื่องบิน บินอยู่ที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต และเป็นไปได้ว่าเครื่องบินได้บินผ่านบริเวณที่เป็นกลุ่มเมฆที่กำลังก่อตัว โดยเหตุการณ์ Turbulence เกิดอยู่ในช่วงเวลา 19 วินาที ที่บินผ่านบริเวณดังกล่าว ช่วงแรกมีแรงสั่นสะเทือนในระดับไม่แรง

ข้อมูลมีการบันทึกไว้ว่า เครื่องบินไม่สามารถรักษาระดับความสูงและความเร็วให้คงที่ได้ เริ่มแกว่งตัวขึ้นไปที่ความสูง 37,362 ฟุต และกลับมาที่ 37,000 ฟุต ในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่นักบินให้สัญญาณรัดเข็มขัดที่นั่ง

2. จนมาถึงเวลา 14:49:41 น. เกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงระดับจาก - 1.5G สู่ + 1.5G ภายใน 4 วินาที ในช่วงนี้เป็นไปได้ที่ภายในห้องโดยสารจะมีผู้ที่ลอยตัวและหล่นลงมาจากการสั่นสะเทือน แต่การสั่นสะเทือนมาถึงจุดสูงสุดซึ่งเป็นไปได้ว่าการบาดเจ็บของลูกเรือและผู้โดยสารจะเกิดในช่วงต่อมาที่มีการสั่นสะเทือนอยู่ประมาณ 4.6 วินาที ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความสูง 178 ฟุต (เปลี่ยนจาก 37,362 ฟุต เป็น 37,184 ฟุต)

3. หลังจากนั้นนักบินได้ทำการบินแบบไม่ใช้ Autopilot ประมาณ 21 วินาที ต่อมาเมื่อได้รับรายงานจากทางลูกเรือว่ามีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ นักบินจึงขอเปลี่ยนเส้นทางบินโดยได้ขอลงฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

4. หลังจากประสบเหตุการณ์ Turbulence แล้วประมาณ 17 นาที นักบินจึงได้ขอทำการลดระดับความสูงจาก 37,000 ฟุตลงมาบินที่ 31,000 ฟุตและทำการลงสนามที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 15:45:12 น.

5. ทั้งนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องทำการสืบสวนในเชิงลึกอีกหลายขั้นตอนต่อไป เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง รายงานดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลจากกล่องดำที่บันทึกเอาไว้เท่านั้น

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม