หน้าแรก > สังคม

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กำชับโครงการก่อสร้างคืนผิวจราจรให้เร็ว สภาพถนนต้องดีก่อนรับคืน เร่งแก้ไขไฟฟ้าดับทุกดวง

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 15:18 น.


(16 ก.พ. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักการโยธาในวันนี้ ว่า สำนักการโยธาเป็นสำนักสำคัญ มีโครงการก่อสร้างต่อเนื่อง 28 โครงการ โครงการใหม่ 8 โครงการ หน้าที่สำคัญคือเร่งรัดโครงการเดิมที่ทำอยู่ ให้แล้วเสร็จตามเวลา เรื่องสำคัญอันที่ 2 คือการกำกับดูแลโครงการอื่น ที่มาใช้พื้นที่ของเราโดยเฉพาะโครงการของรถไฟฟ้า โครงการของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งได้กำชับว่าต้องเข้มงวด ต้องไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและให้ได้มาตรฐาน คืนพื้นผิวจราจรให้เร็วที่สุด การดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมถึงเมื่อเสร็จแล้วต้องคืนกลับสู่สภาพเดิม เรื่องนี้ต้องให้จริงจัง ให้ชัดเจนให้ซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมก่อนที่จะรับมา ต้องขอให้สำนักการโยธาจริงจังกับเรื่องนี้เพราะเป็นหน้าที่ของเราที่ดูแลแทนประชาชน

เรื่องสำคัญเรื่องต่อมาคือเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งขณะนี้ทำไปได้เยอะแล้ว กรุงเทพมหานครมีไฟฟ้าส่องสว่างที่รับผิดชอบอยู่ทั้งหมดอยู่ประมาณ 150,000 ดวงไฟดับประมาณ 18,000 ดวง ซ่อมแซมแล้ว 12,000 ดวง ภายในเดือนมี.ค.66 ไฟทั้งหมดก็น่าจะติด ซึ่งทั้งหมดไฟรุ่นเก่าเป็นระบบ High Pressure กทม. จะเริ่มเปลี่ยนโคมไฟรุ่นใหม่ที่เป็น LED ประหยัดพลังงาน 25,000 ดวง ขณะนี้ประมูลเสร็จแล้วแต่มีการอุทธรณ์เล็กน้อย กทม.จะเร่งติดตั้งเพราะ LED มีความสว่างมากขึ้นและมีความประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนเรื่องเส้นทางต่างๆ คิดว่าจะมีการพยายามตัดถนนผังเมืองเพิ่มขึ้น ปัจจุบันผังเมืองเปลี่ยนไปเยอะ แต่ยังมีถนนผังเมืองจำนวนมากที่ยังค้างอยู่ มีถนนสาย ข อยู่ประมาณ 7 เส้นทางที่เราจะพยายามผลักดันที่ดูแล้วมีความเป็นไปได้มีระยะเขตทาง 16 เมตรที่เว้นไว้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางเร็วขึ้น

เรื่องต่อมา คือ เรื่องการอนุญาตก่อสร้างอาคาร ซึ่งประชาชนมีข้อกังวลในเรื่องความโปร่งใส ขณะนี้สำนักงานเขตเริ่มให้บริการ One Stop Service แล้ว สำหรับอาคารขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 300 ตารางเมตรสามารถยื่นออนไลน์ได้ ในส่วนของสำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา จะทำการปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ รวดเร็วขึ้น และเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เรื่องแผ่นดินไหวก็เป็นเรื่องที่เรากังวล จึงจะมีการสัมมนาในวันพุธหน้า(22 ก.พ.66) ในข้อกฎหมาย กรณีการก่อสร้างเกิดหลังปี 2550 จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับกฎหมายแผ่นดินไหวชัดเจน แต่อาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 อาจจะไม่ได้มีข้อกำหนดออกแบบก่อสร้างแผ่นดินไหว แต่ต้องออกแบบเผื่อแรงลม เพราะแรงลมในกรุงเทพฯ มีลักษณะที่เป็นแรงแนวข้างคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าอาคารที่ออกแบบก่อนปี 2550 จะรับแผ่นดินไหวไม่ได้ เพราะมีโครงสร้างที่ต้องรับแรงลมซึ่งมีลักษณะของการรับแรงคล้าย ๆ กับแผ่นดินไหว ก็จะมีอยู่ประมาณ 10,000 อาคาร ได้ให้สำนักการโยธาลองจัดกลุ่ม ว่ามีอาคารรูปแบบไหนที่อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าอาคารประเภทอื่นใน 2 ลักษณะ เช่น ประเภทการใช้งานอาคารที่แบบมีความเสี่ยงในการใช้งานว่าต้องใช้งานได้ในช่วงแผ่นดินไหวรุนแรง หรือว่าลักษณะของการก่อสร้าง เช่น อาคารที่อาจจะไม่สูงมากหรือเสาเข็มสั้น แล้วหาแนวทางในการปรับปรุงให้เข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งให้สำรวจแนวอาคารของกทม.เอง โรงพยาบาล โรงเรียนต่าง ๆ ว่าตรงไหนที่มีความเสี่ยง และอาจจะเอาอาคารของ กทม. เป็นต้นแบบในการปรับปรุงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

พร้อมกันนี้ได้กำชับให้ดูเรื่องฝุ่นและมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการที่อยู่ใน EIA ในการควบคุมฝุ่น ให้ทุกโครงการดำเนินการอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นคือการฉีดฝอยละอองน้ำอาจจะไม่ได้ป้องกันฝุ่น PM 2.5 แต่เชื่อว่าอย่างน้อยฝุ่น PM 10 น่าจะมีผล ได้ให้สำนักการโยธาไปทบทวนมาตรการต่างๆ ว่ามาตรการก่อสร้างต่างๆไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า อาคารเอกชน การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน มาตรการอะไรที่ต้องทำและจะให้ทำเพิ่มเติม ให้ออกเป็นมาตรการแล้วแจ้งไปยังผู้ก่อสร้างต่างๆ ภายในสัปดาห์หน้า

สำหรับการแจ้งข้อร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue สำหรับการโยธา ได้รับเยอะมาก 30,000 กว่ารายการ ถือว่าเยอะที่สุดในสำนักงานทั้งหมด เพราะรับหลายเรื่อง ทั้งเรื่องถนน ฟุตบาท ทางเท้า ได้มีการแก้ไขแล้ว 12,000 เรื่อง ในส่วนที่สำนักการโยธาสามารถซ่อมสร้างเองได้คาดว่าจะแก้ไขได้ทั้งหมดภายใน 2 เดือน ส่วนที่ต้องจ้างเหมาในการแก้ไขอาจต้องใช้เวลา

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม