วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 13:19 น.
สถานีรถไฟปักกิ่งใต้ หนึ่งในศูนย์กลางการรถไฟที่สำคัญของกรุงปักกิ่ง ได้รับอนุญาตให้ทดสอบการให้บริการแท็กซี่วิ่งอัตโนมัติหรือโรโบแท็กซี่ เพื่อส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติในเชิงพาณิชย์
คำสั่งอนุมัติดังกล่าวออกโดยสำนักงานเขตสาธิตการขับขี่ระบบอัตโนมัติระดับสูงของปักกิ่ง ถือเป็นการริเริ่มทดสอบบริการขับขี่อัตโนมัติอย่างเป็นทางการที่สถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่ง โดยเขตสาธิตจะประสานงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการทดสอบยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนท้องถนน
กลุ่มบริษัทต่างๆ ได้รับอนุญาตให้มาร่วมให้บริการโรโบแท็กซี่บนเส้นทางทดสอบที่กำหนดสองเส้นทาง ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปักกิ่งกับสถานีรถไฟปักกิ่งใต้ เส้นทางเหล่านี้มีระยะทางไป-กลับ 32 กิโลเมตร และ 58.6 กิโลเมตร ตามลำดับ
คำสั่งอนุญาตดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยมาทำหน้าที่ควบคุมภายในรถในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน โดยคาดว่าตัวเลือกการขนส่งใหม่นี้จะพร้อมให้บริการภายในปีนี้
สถานีรถไฟปักกิ่งใต้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ทันสมัยและครบวงจร เชื่อมต่อทั้งทางรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถประจำทาง และรถแท็กซี่ รองรับผู้โดยสารได้เกือบ 300,000 คนต่อวัน
ปัจจุบันปักกิ่งกำลังขยายพื้นที่เขตสาธิตการขับขี่ระบบอัตโนมัติระดับสูง และส่งเสริมการเปิดตัวบริการขับขี่อัตโนมัติในศูนย์กลางทางรถไฟหลัก 5 แห่ง และสนามบิน 2 แห่ง
ก่อนหน้านี้ ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ต้าซิง ได้เปิดตัวบริการโรโบแท็กซี่ โดยใช้ยานพาหนะ 40 คันจาก 4 บริษัท อาทิ โพนีดอทเอไอ (Pony.ai) และวีไรด์ (WeRide) ซึ่งมีระยะทางวิ่งทดสอบรวมกันกว่า 220,000 กิโลเมตร
ตัวเลขคาดการณ์จากไอเอชเอส มาร์กิต (IHS Markit) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ระบุว่าขนาดของตลาดบริการแท็กซี่อัตโนมัติของจีนคาดว่าจะสูงถึง 1.3 ล้านล้านหยวน (ราว 6.65 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 คิดเป็นร้อยละ 60 ของตลาดเรียกรถโดยสารของประเทศในปีดังกล่าว
ทั้งนี้ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติระดับสูง จัดเป็นส่วนหนึ่งในแผนกลยุทธ์การพัฒนายานยนต์อัจฉริยะของจีน
เมื่อนับถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เมืองมากกว่า 20 แห่งในจีนได้ออกนโยบายสนับสนุนการทดสอบการขับขี่แบบอัตโนมัติ โดยมีองค์กรมากกว่า 60 แห่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการทดสอบการขับขี่อัตโนมัติ