วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13:17 น.
พลตรีเกษม ภิญโญชนม์ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก พร้อมด้วยพลตรีอำนวย เติมเกาะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอานันทมหิดล ร่วมกันแถลงถึงการรักษาและช่วยชีวิต กำลังพล 2 นาย ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการฝึกที่จังหวัดลพบุรี
โดยรองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยความเคารพยิ่ง พร้อมระบุว่ากรมแพทย์ทหารบกมีหน้าที่ในการควบคุม กํากับดูแลผู้เข้ารับการฝึก ในด้านการบริการทางการแพทย์และการส่งกลับผู้ป่วย โดยมีโรงพยาบาลอนันทมหิดลเป็นหน่วยปฏิบัติหลัก พร้อมกับหน่วยสายแพทย์กองทัพบก จํานวน 7 หน่วย รวมทั้งหน่วยแพทย์ทุกเหล่าทัพ และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ
โดยการฝึกในครั้งนี้สิ่งสำคัญ ด้านการแพทย์ คือได้มีการจัดทำแผนการบริการทางการแพทย์และการส่งกลับผู้ป่วย มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับตามพื้นที่ฝึกหลายจุด เนื่องจากพื้นที่ฝึกมีบริเวณกว้าง มีระบบการส่งกลับผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ ด้วยรถพยาบาลและอากาศยาน โดยได้มีการจัดเตรียมรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูง หรือ Advanced life support ambulance ที่มีอุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ในการช่วยชีวิต พร้อมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ จํานวน 7 คัน และมีรถพยาบาลสนามดัดแปลงแบบ 51 ซึ่งมีอุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ในการช่วยชีวิต พร้อมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ จํานวน 3 คัน โดยรถพยาบาลได้ถูกจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสม ตามลักษณะการฝึกและภูมิประเทศ สำหรับการส่งกลับผู้ป่วยด้วยอากาศยาน ได้มีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์พยาบาล 2 ลำ พร้อมแพทย์เวชศาสตร์การบิน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูงในการลําเลียงผู้ป่วย
รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ยังได้อธิบายโดยสังเขป ถึงพื้นที่การจัดวางโรงพยาบาลสนาม ตำแหน่งรถพยาบาลและอากาศยาน บริเวณเนิน 129 ซึ่งเป็นพื้นที่สาธิต จากนั้นได้กล่าวถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ว่า ในวันที่เกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของกรมแพทย์ทหารบกได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ได้ควบคุมกํากับดูแล ประสานงาน คลี่คลายสถานการณ์ ด้วยความตั้งใจที่จะให้การรักษาพยาบาลและรักษาชีวิตของผู้บาดเจ็บไว้อย่างเต็มความสามารถ
ในภาพรวมของการดูแลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อได้รับการแจ้งเหตุรถพยาบาลได้เข้าดำเนินการปฐมพยาบาลผู้ป่วยเจ็บที่มีภาวะหมดสติ และแจ้งให้กองอํานวยการฝึกกรมแพทย์ทหารบกทราบ ขณะเดียวกันได้แจ้งให้รถพยาบาลในพื้นที่เข้าสนับสนุน อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่าเป็นการบาดเจ็บจากการกระทบ-กระแทก หรือเรียกว่า Blunt injury ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าบาดเจ็บที่รุนแรง เพราะจะมีผลต่ออวัยวะภายในของผู้บาดเจ็บ อาจทำให้เกิดการเสียเลือดเป็นจำนวนมากตามอวัยวะภายในได้หลายแห่ง
ในส่วนผู้ป่วยเจ็บรายที่ 1 (นนร.ภูวนัยฯ) ชุดแพทย์ได้ประเมินอาการขั้นต้น พบว่ามีการกระแทกรุนแรงบริเวณทรวงอก (Blunt Chest Injury) จึงให้การปฐมพยาบาลและส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม (บริเวณสํานักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 7 โคกตูม) ได้ประเมินอาการซ้ำพร้อมให้การรักษา และดำเนินการส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล
ผู้ป่วยเจ็บรายที่ 2 (จ.ส.อ.สง่าฯ) ชุดแพทย์ได้ประเมินอาการขั้นต้น พบว่ามีการกระแทกรุนแรงบริเวณทรวงอกและช่องท้อง (Blunt Chest Abdominal Injury) จึงให้การปฐมพยาบาลและส่งกลับด้วยรถยนต์พยาบาล เพื่อรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล โดยในห้วงระหว่างการเดินทางผู้ป่วยเจ็บมีอาการทรุดลง แพทย์จึงตัดสินใจนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้รับการรักษาเพิ่มเติมจนสามารถดำเนินการส่งตัวต่อไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล
รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ยังได้สรุปว่า จากข้อมูลการปฏิบัติการรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉินวิกฤติรวมถึงผลชันสูตร ทำให้ประมวลได้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงต่ออวัยวะภายใน เป็นผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต พร้อมระบุว่าทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยชีวิตกําลังพลทั้ง 2 นาย เพราะตระหนักดีว่าทุกนาทีมีค่า มีความหมายต่อชีวิตผู้ป่วย แต่เนื่องจากความรุนแรงของการบาดเจ็บ จึงทำให้เกิดการสูญเสียดังกล่าว
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน