หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

เปิดตัวนวัตกรรมทางการแพทย์ AICEDA BoneX ช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์

วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 16:15 น.


วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี เปิดตัวนวัตกรรมทางการแพทย์ AICEDA BoneX ช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์

เมื่อวันที่ 15  พฤษภาคม 2567 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมงานประชุมวิชาการ 84 ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า  เขตสุขภาพที่  6 จังหวัดจันทบุรี   ครั้งที่ 20 THE FUTURE OF WELLNESS : CONNECTED AND COSTOMIZED อนาคตกับสุขภาพดีที่คุณเลือกได้ ณ ห้องประชุมพลอยจันท์ ชั้น 3 อาคารศูนย์ฝึกปฏิบัติการจำลองทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี  

ภายในงาน มีการบรรยายวิชาการ หัวข้อ “นวัตกรรม AICEDA BoneX เส้นทางการวิจัย พัฒนาต่อยอดสู่การใช้งานในโรงพยาบาล เขตสุขภาพที่ 6”  โดย อาจารย์ ดร.ทศพร  เฟื่องรอด รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการ และเทคโนโลยีสารสนเทศวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ นายแพทย์พลชัย วงษ์ทองสาลี ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และ รองผู้อำนวยการด้านสุขภาพดิจิทัล โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี  

นับเป็นก้าวสำคัญของการต่อยอดนวัตกรรมแพลตฟอรม์ AICEDA (ไอเชียด้า) แพลตฟอร์มสนับสนุนการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ สู่การสร้าง“แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์” หรือ AICEDA BoneX  ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมโดยได้นำร่องในการนำนวัตกรรมระบบปัญญาประดิษฐ์นี้ มาใช้ในแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระปกเกล้า เขตสุขภาพที่  6  จังหวัดจันทบุรี  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยรอยโรคกระดูกหักบนภาพเอกซเรย์ให้รวดเร็วและแม่นยํามากยิ่งขึ้น ซึ่งหากแพทย์สงสัยว่าคนไข้มีภาวะกระดูกสะโพกหักหรือไม่ เราสามารถใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ได้ทันที ช่วยให้แพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวดเร็วและแม่นยํา ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ AICEDA BoneX สามารถรองรับภาพเอ็กซ์เรย์จากเครื่องหลายยี่ห้อและขนาดต่างๆ ได้ โดยมีการปรับปรุงคุณภาพภาพเอกซ์เรย์ให้มีความคมชัด ลดสิ่งรบกวน และปรับค่าสีของภาพ พร้อมกับการตรวจจับพื้นที่สนใจและแยกพื้นที่ซ้าย-ขวาอัตโนมัติ โมเดลนี้ได้รับการพัฒนาจากข้อมูลและการวินิจฉัยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า เขตสุขภาพที่  6 จังหวัดจันทบุรี โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาโมเดลภาพกระดูกสะโพกหักจากอดีตกว่า 850 เคส และทดสอบความแม่นยํากับ 340 เคส ซึ่งได้ผลความแม่นยําสูงถึง 98.53% นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบทางคลินิกอีก 1,000 เคส โดยได้ค่า Sensitivity 0.976 และ Specificity 0.996 แพลตฟอร์มนี้ยังได้รับการออกแบบให้มีการควบคุมคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ สามารถนําข้อมูลที่ผิดพลาดกลับไปเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงความแม่นยํา ของโมเดลอย่างต่อเนื่องได้ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โทร. 02 576 6600 (ในวันและเวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 8:00 – 16:00 น.)

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม