หน้าแรก > การเมือง

กรมราชทัณฑ์แถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิตขณะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 21:01 น.


จากกรณี น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เสียชีวิตเมื่อเวลา 11.22 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม หลังหัวใจหยุดเต้น หมอปั๊มหัวใจ เร่งนำตัวส่งไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โดยถูกคุมขังเป็นเวลา 110 วัน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 2 กรมราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรม นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวเพื่อชี้แจงในกรณีดังกล่าว 
       
นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตของนางสาวเนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ทางรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม โดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง นายแพทย์สมภพ กล่าวว่า ทางกรมราชทัณฑ์ขอชี้แจงในเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์การเสียชีวิตของนางสาวเนติพร โดยกรมราชทัณฑ์ได้รับตัวนางสาวเนติกร และควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งขณะนั้นนางสาวเนติพรได้อดอาหารอยู่แล้ว ทางทัณฑสถานหญิงกลางได้เฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการอ่อนเพลียจากภาวะการอดอาหาร ก็ได้ส่งตัวไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นประจำ ตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2567 ก็ได้เข้ารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นเวลา 8 วัน จากอาการอ่อนเพลีย และในวันที่ 8 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2567 ได้มีการย้ายตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เป็นเวลา 27 วัน นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มีหนังสือส่งตัวนางสาวเนติพร กลับมารักษาตัว เนื่องจากเห็นว่าสามารถกลับมารักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ หลังจากที่นางสาวเนติพรได้กลับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ นางสาวนิติพร ได้กลับมารับประทานอาหารได้บ้างตามอันดับ ทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้จัดให้เข้าพักในห้องผู้ป่วยรวม ซึ่งมีนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย

นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า แพทย์และพยาบาลได้เฝ้าระวังและตรวจอาการของนางสาวเนติพรตลอดเวลา พบว่ารู้สึกตัวดี ไม่มีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนกระทั่งวันเกิดเหตุคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 06.00 น. นางสาวเนติพรและนางสาวทานตะวัน ขณะที่ทั้งสองกำลังพูดคุยกันตามปกติในห้องควบคุม นางสาวเนติพรเกิดอาการวูบและหมดสติไป ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ทางแพทย์และพยาบาลได้ให้การช่วยเหลือดำเนินการกระตุ้นหัวใจโดยทันที และได้ประสานส่งตัวนางสาวเนติพรไปเข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จนกระทั่งมีข่าวการเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทางกรมราชทัณฑ์ได้ให้ความเคารพและให้ความสำคัญในหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรม มีการเฝ้าระวังและดูแลรักษาอาการของนางสาวเนติพรอยากใกล้ชิด โดยแพทย์และพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเพื่อความโปร่งใสกระทรวงยุติธรรมได้มีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ในสาเหตุการเสียชีวิตของนางสาวเนติพร ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตนั้น เมื่อผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว กรมราชทัณฑ์จะชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป

นายแพทย์สมภพ กล่าวเพิ่มว่า ในเวลาหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระเพาะอาหารก็ดีการทำงานของระบบทางเดินอาหาร จะต้องมีการค่อยๆรับประทานอาหาร อาจจะเป็นอาหารอ่อนๆ เหมือนกับคนที่ไปผ่าตัดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แพทย์ก็จะเริ่มจากอาหารอ่อนก่อน เขาได้รับอาหารคือค่อยๆ บางมื้ออาจได้นิดเดียว แต่ทางโรงพยาบาลได้จัดอาหารไว้ทั้ง 3 มื้อ จะทานได้มากได้น้อยอย่างไรก็จะมีการบันทึกไว้ เช่นวันนี้ได้น้อยไป หรือยาที่จัดให้เช่นวิตามินบำรุงเลือด ที่ตรวจเลือดพบว่ามีภาวะโลหิตจาง ก็มีวิตามินบำรุงเลือดเสริมเข้าไปให้ แต่เมื่อเข้าไปเก็บอาหารก็พบว่านางสาวเนติพรปฏิเสธที่จะไม่รับประทาน

นายแพทย์สมภพ กล่าวว่า โดยปกติถ้าสามารถรับประทานอาหารได้ และทางทัณฑสถานได้มีการตรวจสภาพร่างกายทั่วๆไป ถ้ารับประทานอาหารเองได้ก็จะให้ทางนั้น ส่วนในการให้สารอาหารทางน้ำทางหลอดเลือด ปกติแล้วจะให้ในภาวะซึ่งเสียน้ำอย่างรุนแรงเหมือนคนท้องเสีย หรือคนที่อยู่ในภาวะของสารน้ำที่ไม่พอ เพราะสารน้ำที่ให้ทางเลือดก็คือน้ำเกลือ ไม่ได้มีสารอาหารทางด้านของโปรตีนหรืออะไรต่างๆ ได้ให้เจ้าหน้าที่อยู่ประจำที่ห้อง เพื่อคอยที่จะตรวจผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่ทางแพทย์หรือพยาบาลไม่กำหนดไว้ ปฏิบัติหน้าที่เหมือนพยาบาลเฝ้าผู้ป่วย ขณะนั้นนางสาวเนติพรนอนอยู่บนเตียงและมีการวัดความดัน หลังจากนั้นนางสาวทานตะวันได้บอกว่า นางสาวเนติพรได้มีการชักกระตุกและแน่นิ่งไป

ด้านนายแพทย์พงศ์ภัค กล่าวว่า ตั้งแต่หลังวันที่ 4 เมษายน ที่กลับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ นางสาวบุ้งยังคงมีอาการอ่อนเพลียสามารถรับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ เช่น ข้าวต้ม ไข่เจียว โดยจัดหาอาหารให้ทั้ง 3 มื้อ และยืนยันว่าที่ผ่านมาได้มีการแนะนำกับนางสาวบุ้งโดยตลอดว่า การอดอาหารอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ซึ่งนางสาวบุ้งรับทราบอย่างต่อเนื่องแต่ยังยืนยันในแนวทางเดิม โดยมีเจตจำนงที่จะปฏิเสธรับเกลือแร่หรือวิตามิน ยืนยันว่า ให้การรักษาและดูแลตามมาตรฐาน ก่อนเกิดเหตุไม่มีภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตาม ในการนำตัวนางสาวบุ้งไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์นั้นไม่ได้ใช้ เครื่อง AED หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะไม่มีข้อบ่งชี้ ทั้งนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ รวมถึงขั้นตอนการช่วยเหลือกู้ชีพนางสาวบุ้งทั้งหมด ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์และผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังคงมีความสับสนและให้ข้อมูลไม่ตรงกัน เช่น ช่วงแรกผู้ตรวจราชการฯ กล่าวว่า ไม่พบสัญญาณชีพของนางสาวบุ้ง จึงได้ฉีดยากระตุ้นหัวใจ แต่ภายหลังแพทย์ให้ข้อมูลว่า มีสัญญาณชีพอ่อน ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกให้เป็นผู้ช่วยพยาบาลจึงได้ cpr ที่เตียงนอน จนมีสัญญาณชีพกลับมา ก่อนเจ้าหน้าที่จะพยุงนางสาวบุ้งลงไปห้องรักษาพยาบาล รวมถึงข้อมูลก่อนนางสาวบุ้งจะหมดสติไป ที่ตอนแรกให้ข้อมูลว่านางสาวบุ้งลุกไปเข้าห้องน้ำและมีการพูดคุยกับนางสาวทานตะวันว่าปวดท้องหรือไม่ และกลับมานอนข้างกัน ภายหลังมีการให้ข้อมูลว่านางสาวทานตะวันเป็นผู้ลุกไปเข้าห้องน้ำ และบุ้งนอนอยู่ที่เตียง ก่อนที่สุดท้ายทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้แก้ไขว่ายังไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนลุกไปเข้าห้องน้ำกันแน่ แต่หลังกลับจากเข้าห้องน้ำแล้วบุ้งและทานตะวันมีการพูดคุยกัน จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาวัดความดัน หลังจากนั้นหนึ่งถึง 2 นาที นางสาวบุ้งกระตุก 1-2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบสัญญาณชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้แถลงยังให้ข้อมูลสับสนว่านางสาวทานตะวันเห็นเหตุการณ์ขณะนางสาวบุ้งกระตุกหรือไม่ แต่ตอนแรกให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุขณะตะวันหลับอยู่ แต่ เมื่อผู้สื่อข่าวถามจี้ว่า เป็นไปได้อย่างไรเมื่อมีคนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำอยู่ ผอ.รพ.จึงให้ข้อมูลใหม่ว่าตะวันเองก็วัดความดันอยู่เช่นกันขณะที่มุ่งเกิดอาการกระตุก 
     
ซึ่งนายแพทย์พงศ์ภัค ระบุว่าได้ดูเพียงกล้องบันทึกภาพขณะเกิดเหตุการณ์เท่านั้น แต่ช่วงอื่นๆนั้นไม่ทราบ และไม่ได้ดูกล้องวงจรปิด จึงไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนได้ ทำให้ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ได้ตำหนิผู้อำนวยการโรงพยาบาล ว่า ผอ.ยังสับสนในคำถามและไม่เข้าใจและไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ แต่ผู้ตรวจฯยืนยันว่าได้ดำเนินการตามมาตรฐานการการกู้ชีพทั้งหมด เป็นไปตามจรรยาบรรณของแพทย์ พร้อมอ้างว่าเป็นข้อมูลที่ลึกเกินไป แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง ด้านอาการของทานตะวันและแฟรงค์ที่ยังอยู่ในโรงพยาบาลนั้น อาการแข็งแรงดีและกลับมารับประทานอาหารตามปกติแล้ว แฟรงค์สามารถทานอาหารได้มากขึ้นและเดินได้ ส่วนนางสาวทานตะวันยังคงมีภาวะเครียดและอาการซึมเศร้า และกลับมารับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ส่งจิตแพทย์เข้าไปดูแลอย่างอย่างใกล้ชิดแล้ว ส่วนมาตรการในการป้องกันเหตุซ้ำรอยนั้น

นายแพทย์สมภพ กล่าวว่า ราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่หากเกิดเหตุจนถึงแก่ชีวิตนั้นไม่มีแพทย์ที่ไหนจะยื้อชีวิตได้ แม้กระทั่งนางสาวบุ้งเองก็ทำนิติกรรมไว้แล้วล่วงหน้าเนื่องจากมีความมุ่งมั่นในอุดมการและเราไม่สามารถแตะต้องอะไรได้ เราช่วยชีวิตได้ แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่ ส่วนการป้องกันนั้น ได้พยายามส่งนักจิตวิทยาเข้าไปโน้มน้าวแล้วอย่างเต็มที่ แต่หากเขายืนยันจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เหตุการณ์ร่างกายทนไม่ไหวแล้ว ราชทัณฑ์ทำได้เต็มที่ก็คือส่งให้แพทย์รักษาเท่านั้น ส่วนการจะให้เปลี่ยนใจนั้นทำไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากร่างกายมาถึงจุดที่ไม่สามารถดูแลได้แล้วก็ยาก “ต่อให้เป็นแพทย์เทวดาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้“

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม