วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 15:26 น.
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 12.10 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีคดีตู้ห่าวและธุรกิจจีนสีเทา ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีของคดีตู้ห่าว นักธุรกิจชาวจีน สัญชาติไทย พฤติกรรมเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นมานานแล้วก่อนปี 2557 โดยตู้ห่าวได้เข้ามาตั้งแต่ปี 2554 และมีการดำเนินเรื่องกระบวนการอนุมัติ อนุญาตเรื่องสัญชาติตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งถึงรัฐบาลปัจจุบันเมื่อเสนอมาก็ดำเนินการตรวจสอบแล้วเมื่อถูกต้องก็เป็นการอนุมัติตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างไรก็ตามเมื่อรับทราบถึงพฤติกรรมเหล่านี้จากข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงประชาชน ก็ให้สืบสวนสอบสวน เพราะถูกปล่อยปละมานานแล้ว โดยมีการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย และมีการสืบสวนสอบสวน รวมไปการเงินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าได้ใช้ในกิจการซื้ออสังหาริมทรัพย์ยกหมู่บ้าน หลายหมู่บ้าน แต่ยืนยันว่า รัฐบาลนี้ไม่มีแน่นอนในการขายบ้านแล้วแถมสัญชาติ ทั้งนี้ หากไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงให้ดีจะพบว่าภรรยาตู้ห่าวก็มีความเกี่ยวข้องกับอดีตรัฐมนตรีพรรคใด นอกจากนี้ ได้มีการพบกับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ซึ่งได้รับฟังมูลดังกล่าวและได้ส่งข้อมูลเหล่านั้นไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที โดยดำเนินการทุกอย่างภายใต้หลักของกฎหมายซึ่งหลักนิติธรรมก็ต้องมี การดำเนินการทุกอย่างทำถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจและไม่ทันใจทุกคน เพราะการดำเนินการบางอย่างอยู่ในขั้นตอน บางอย่างเปิดเผยได้ และบางครั้งก็เปิดเผยไม่ได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นที่ 1 กรณีการออกหมายเรียก ส.ว.อุปกิต ปาจรียางกูร ของพนักงานสอบสวน บช.ปส. นั้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าเรื่องนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ได้มีการสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันและสามารถขยายผลดำเนินคดีได้หลายราย บางรายก็หลบหนี ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้ออกหมายจับ และติดตามจับกุมมาได้ บางรายที่หลบหนีอยู่ก็ยังสืบสวนเพื่อจะต้องจับกุมให้ได้ ส่วนที่สมาชิกได้อภิปรายว่ามี ส.ว.เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพัน เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งฝ่ายสืบสวนและสอบสวนได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา แล้ว ส่วนการเพิกถอนหมายจับก็เป็นดุลยพินิจของทางฝ่ายตุลาการ ซึ่งก็มีความเห็นให้พนักงานสอบสวนไปออกหมายเรียกก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ขอเข้าไปก้าวก่ายความเห็นนี้ เนื่องจากไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร แต่เรื่องนี้เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ที่พนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายตามกฎหมาย จึงต้องมีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมรอบคอบก่อน เมื่อพบว่าใครเกี่ยวข้องก็จะออกหมายเรียก ซึ่งจะเรียกตอนไหน อย่างไรก็เป็นดุลพินิจและการปฏิบัติของพนักงานสอบสวน ตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนและยังอยู่ภายในอายุความ ถ้าออกหมายเรียกไปแล้วภายใน 15 วันไม่มาพบพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ก็มีเหตุออกหมายจับ เพราะฉะนั้นไม่มีใครไปเอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลืออย่างไร เพราะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 กลุ่มธุรกิจจีนสีเทาผับจินหลิง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้ตำรวจนครบาล ได้มีการสืบสวนตรวจค้น/จับกุมและขยายผล ได้ผู้ต้องหาหลายสิบราย บางรายหลบหนี ก็ออกหมายจับ และอยู่ระหว่างการติดตามจับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนที่มีการระบุว่า มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพัน ผู้บังคับบัญชาก็มีการตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวน มีคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อนไปแล้ว โดยรายใดเมื่อดูแล้วว่ามีความผิดอาญาด้วยก็ดำเนินคดีอาญาไปตามกฎหมาย ส่วนที่บอกว่าไปย้ายคนขยัน คนทำงานนั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการแต่งตั้ง โยกย้าย ภายในอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้พิจารณาไปตามกฎเกณฑ์ หลักเกณฑ์ และระเบียบต่าง ๆ แล้ว
ประเด็นที่ 3 กรณี นายหยู ชิน สี ตั้งสมาคมปลอม เพื่อช่วยทำวีซ่านำคนจีนสีเทาเข้าประเทศในห้วงปี 2563-2564 จำนวน 7,000 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ ตม. ช่วยเหลือ นายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงว่า กรณีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการชี้แจงข้อมูลความคืบหน้าให้ทางสื่อมวลชนทราบเป็นระยะ ซึ่งก็เห็นแล้วว่าตำรวจกำลังดำเนินการและทำอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ หากพบเจ้าหน้าที่ผู้ใดไปร่วมกระทำผิด ก็ต้องดำเนินการทั้งวินัยและอาญาไม่มีการยกเว้น รวมทั้งคนไทยหลายคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องและรับประโยชน์ด้วย โดยนายกรัฐมนตรียืนยันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้เด็ดขาด พร้อมย้ำว่า ทุกคนไม่ว่าใครก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
สำหรับกรณีที่มีการพูดเรื่องคอรัปชันต่าง ๆ นั้น พบว่ามีอดีตรัฐมนตรีหลายคน ก็มีปัญหาเรื่องคอรัปชัน รวมถึงมีรัฐมนตรีติดคุกก็หลายคน บางคนไปต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลปี 2557 ยังไม่มีรัฐมนตรีคนใด ต้องติดคุกสักราย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรื่องการดำเนินงานของ กอ.รมน. ว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นมาภายใต้กฎหมาย โดยมีนายกรัฐมนตรีทุกคนเป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กอ.รมน. ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดย กอ.รมน. เป็นกลไกและศูนย์ประสานงานในการต่อต้านภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร อย่างใกล้ชิดภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ ซึ่งหลายประเทศก็มีหน่วยงานลักษณะเช่นนี้เช่นกัน เช่น กรณีที่มีปัญหาภาคใต้ ก็จำเป็นต้องมีหน่วยงานเฉพาะกิจลงไปเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และเมื่อไม่มีปัญหาแล้วก็ไม่ต้องไปทำ สามารถพิจารณายกเลิกได้ในวันข้างหน้า ทั้งนี้ ยืนยันการดำเนินการไม่ได้เพื่อรักษาอำนาจแต่อย่างใด
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่ากรณีสถานการณ์ภาคใต้ ขอให้ทุกคนต้องระมัดระวังในการพูดและการนำข้อมูลต่าง ๆ มาเผยแพร่ เพราะเกี่ยวพันกับหลายประเทศ รวมทั้งกลุ่มประเทศมุสลิม OIC ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาในการแก้ไขปัญหาร่วมกับไทยในทุกมิติ ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็จำเป็นต้องมีกลไกเพิ่มเติมเข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อแก้ไขปัญหาได้และยุติปัญหาได้แล้ว ก็สามารถนำกำลังกลับมาได้ ทั้งนี้ ที่เจ้าหน้าที่ลงไป ไม่ได้ไปเพื่อคุมคนหรือไปกดคนแต่อย่างใด ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องมีการบังคับบัญชา การสั่งการ ควบคุมกำกับดูแล โดยขณะนี้การเดินหน้าแก้ไขปัญหาภาคใต้มีความก้าวหน้าโดยลำดับ และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วย สำหรับกรณีเรื่องนิรโทษกรรมนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าวันนี้ก็มีในเรื่องของการอภัยโทษอยู่แล้ว และนิรโทษกรรมก็เป็นเรื่องของสภาฯ
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน