วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 11:15 น.
สำนักข่าวซินหัว รายงาน 6 พฤษภาคม 2567 ทีมนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์สองนิ้วขนาดใหญ่ในตำบลหลินเฉิง มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นของไดโนเสาร์พันธุ์ไดโนนีคัส (deinonychosaurs)
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติหินอิงเหลียงได้ค้นพบรอยเท้าของไดโนเสาร์อย่างน้อย 8 ชนิดบริเวณแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์หลงเสียง โดยรอยเท้า 12 รอยเป็นของไดโนเสาร์พันธุ์ไดแด็กทิล ไดโนนีคัส (didactyl deinonychosaur)
ในบรรดารอยเท้าสองนิ้วทั้ง 12 รอยข้างต้น พบรอยเท้าขนาดใหญ่ 5 รอยที่มีความกว้างเฉลี่ย 16.9 เซนติเมตร และความยาว 36.4 เซนติเมตร ซึ่งทำให้นักวิจัยสามารถจำแนกประเภทไดโนเสาร์เพิ่มใหม่ในชื่อ ฝูเจี้ยนนีปัส อิงเหลียงจี (Fujianipus yingliangi) และหากพิจารณาจากสัดส่วนนิ้วเท้า คาดว่าฝูเจี้ยนนีปัสอาจเป็นไดโนเสาร์ในวงศ์ทรูโอดอนทิด (troodontid)
สิงลี่ต๋า รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าตอนนี้รอยเท้าเหล่านี้ถือเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ไดโนนีคัสขนาดใหญ่ที่สุดที่ค้นพบในจีนและที่อื่นๆ พร้อมเสริมว่าเมื่อพิจารณาจากขนาดของรอยเท้าแล้ว คาดว่าไดโนเสาร์ฝูเจี้ยนนีปัสอาจมีความยาวอย่างน้อย 5 เมตร และมีความสูงช่วงสะโพกเกือบ 2 เมตร
ด้านหนิ่วเคอเฉิง ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่าแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์หลงเสียง เป็นแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ยุคครีเทเชียสตอนปลายที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุด มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด และมีความหลากหลายมากที่สุดที่ค้นพบในจีนจนถึงปัจจุบัน
หนิ่ว ระบุเพิ่มเติมว่าการค้นพบไดโนเสาร์ฝูเจี้ยนนีปัส อิงเหลียงจียังได้ขยายขอบเขตของขนาดรอยเท้าไดโนเสาร์ไดโนนีคัส ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาไดโนเสาร์ยุคครีเทเชียสตอนปลายในจีนด้วย
อนึ่ง การค้นพบดังกล่าวได้รับการเผยแพร่บนวารสารนานาชาติไอไซแอนซ์ (iScience) เมื่อไม่นานนี้