หน้าแรก > สังคม

'หมอธีระวัฒน์' ประกาศลาออก จากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ

วันที่ 26 เมษายน 2567 เวลา 03:08 น.


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา   ยื่นหนังสือขอ “ลาออก” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ประกาศเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน

วันที่ 25 เมษายน  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา   ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha แจ้งถึงการลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า

เรียนทุกท่านครับ

เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน /เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ

ดังนั้น หมอได้ ลาออกจากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ แล้วครับ ในวันที่ 25/4 และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท ในฐานะกลุ่ม แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง (ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน)

ด้วยกระผม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ตำแหน่งหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ตามคำสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  แต่งตั้งที่ 423/2564  ณ วันที่ 28 เม.ย.2564 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 จนถึง 30 เม.ย.2568 (วาระ 4 ปี) นั้น

ในการนี้ กระผม มีความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ และขอสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2567 และ ลาออก จึงเป็นผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป

คาดสาเหตุการลาออก
สำหรับสาเหตุของการลาออกครั้งนี้ เป็นไปได้ว่า อาจเกี่ยวข้องประเด็นที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์  ซึ่งเคยเป็น ผอ.ศูนย์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ และเข้าร่วมโครงการกับองค์กรต่างประเทศตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ได้ยุติโครงการเมื่อปี 2020 เนื่องจากพบว่าการศึกษาที่ผ่านมาศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาว ซึ่งไม่ทราบชื่อ เพื่อทำการถอดรหัสพันธุกรรมดูแนวโน้มว่าจะเกิดโรคได้หรือไม่  

โดยศ.นพ.ธีระวัฒน์ ในฐานะผอ.ศูนย์ขณะนั้น ได้มีการทำลายเชื้อในปี 2022  จากเหตุผลที่ว่า  ไม่พบประโยชน์ในการคาดคะเนว่าเชื้อจะเข้ามนุษย์ได้หรือไม่ และประการที่ 2 คือความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อในขณะที่ลงพื้นที่นำเชื้อมาศึกษา อาจติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ จึงกังวลว่าอาจจะมีการติดเชื้อในชุมชนและทั่วไปได้  แต่ส่งผลให้ รพ.จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น เนื่องจากมองว่า การทำลายเชื้อดังกล่าวไม่ได้แจ้งหน่วยงานก่อนได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์  ออกมาให้ข้อมูลผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับพบข้อมูลการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้รับผลกระทบจากวัคซีนป้องกันโควิด19 ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ ออกมายืนยันว่า ไม่มีผลกระทบตามที่ระบุชัดเจน จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุด้วยหรือไม่ ที่ทำให้ตัดสินใจลาออกครั้งนี้

นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ด้านโรคสมอง  "ค้างคาว พิษสุนัขบ้า"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโรคทางสมอง ทั้งโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ทั้งค้างคาว และโรคพิษสุนัขบ้า  ซึ่งมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และได้รับรางวัลเกียรติประวัติอีกมากมาย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์  เริ่มเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2524 และจากความรู้ความเชี่ยวชาญยังได้รับดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางวิชาการเกี่ยวกับโรคจากสัตว์สู่คน ทั้ง Member of WHO Expert Advirosy Panel on Rabies (ผู้เชี่ยวชาญโรคพิษสุนัขบ้าองค์การอนามัยโลก) และที่ปรึกษาโรคสมองอักเสบ องค์การอนามัยโลก ในปี 2533  และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา ระหว่างปี 2535-2537  และในปี 2543  ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ขณะที่ปี 2547 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สมัยที่ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ปฏิบัติราชการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ปี พ.ศ. 2548 ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการป้องกันโรคติดต่อจากค้างคาว ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้ง ยังเคยเป็นกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ.2562-2564  และตำแหน่งอื่นๆ ในแวดวงวิชาการต่างๆ กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ในปัจจุบัน
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม