วันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 15:15 น.
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ปัจจุบันไฟป่าในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้นและล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์แทบทั้งสิ้น ทั้งที่เกิดจากความจงใจเผาป่าหรือประมาทเมื่อเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ป่า รวมถึงความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิของโลกสูงที่ขึ้นและมีฤดูแล้งที่ยาวนาน กรมอุทยานฯ หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ป่าโดยตรง นอกจากจะมีการระดมกำลังคนในการช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ ยังมีการใช้เครื่องมือหรือ “เทคโนโลยีช่วยดับไฟ” เพื่อให้ปัญหาการลุกลามของไฟป่าลดลงหรือช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าในพื้นที่ได้
“การดับไฟป่า เป็นขั้นตอนของงานควบคุมไฟป่าที่หนักที่สุดและเสี่ยงอันตรายที่สุด ทุกอย่างจะต้องพลิกแพลงไปตามสถานการณ์และพฤติกรรมของไฟที่สามารถผันแปรและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการนำเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำมาช่วย จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูล หาแนวทางป้องกัน และช่วยแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างทันเหตุการณ์”
นายนฤพนธ์ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ มีการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมไฟป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าภาคเหนือจะพบจุดเกิดไฟป่า(Hotspots) ในพื้นที่เขตจังหวัดตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอนบ่อยครั้ง จึงมีการใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ตรวจหาจุดเกิดไฟป่าร่วมกับจิสด้า เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูล ด้วยการตรวจหาไฟป่าโดยการใช้ดาวเทียมในระบบ VIIRS จากดาวเทียม SOUMI NPP ตรวจหาจุด Hotspots ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงป่าอื่นๆทั่วประเทศ โดยดาวเทียมจะเป็นเครื่องมือในการตรวจพบความร้อน ซึ่งมีโอกาสเป็นบริเวณที่เกิดไฟไหม้ ได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ยังมีการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการบินสำรวจ ส่งเจ้าหน้าที่ฯ และลำเลียงน้ำเข้าไปใช้ในการดับไฟและมีการลาดตระเวนตรวจหาไฟป่าทั้งทางพื้นดิน/หอดูไฟ/อากาศยาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีตรวจหาไฟจากอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (Drone) มาช่วยด้วย
สำหรับการใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับบินสำรวจตรวจจับความร้อน ป้องกันเหตุไฟป่า มีวิธีการคร่าวๆคือ จะใช้โดรนบินลาดตระเวนและส่งภาพแบบทันที (Real Time) หากจุดไหนพบความร้อน โดรนจะส่งข้อมูลเข้าไปในมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่ฯได้ทันที เทคโนโลยีโดรน ยังมีศักยภาพในการบินตรวจการณ์ได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง และมีรัศมีทำการได้ไกล จะทำให้รู้ได้ว่าพื้นที่ใดกำลังจะเกิดการปะทุ หรือมีความร้อนใต้ดิน ทราบข้อมูลและสามารถสั่งการในการดับไฟป่าได้ทันท่วงที
“การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้โดยเฉพาะเรื่องโดรน บินตรวจพื้นที่ป่า ตรวจจุดความร้อน เพื่อป้องกันคนไม่ให้ลักลอบเข้ามาทําลายป่าหรือเผาป่า ซึ่งหากมีการบินตรวจด้วยโดรนทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เจ้าหน้าที่รีบสกัดและเข้าพื้นที่ดับไฟป่าอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะไฟจะลุกลาม เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเฝ้าระวังและควบคุมการเกิดไฟป่าได้”
ผอ.สำนักป้องกันฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่อาจส่งผลกระทบตลอดช่วงฤดูไฟป่าในหน้าแล้ง เป็นศูนย์ฯที่ช่วยประสานงาน สั่งการหน่วยงาน กำลังพล และเครื่องมืออุปกรณ์ ในการช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งภาคเหนือและบริเวณต่างๆที่เกี่ยวข้อง
การจัดตั้งศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน หรือ War Room ยังช่วยให้มีระบบการติดตาม รายงานสถานการณ์ การแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 17 จังหวัดภาคเหนือทุกระยะ รวมถึงพื้นที่จังหวัดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ศูนย์ฯดังกล่าว ยังมีการประเมินความต้องการและความจำเป็นในการสนับสนุนทรัพยากร ตามแผนระดมพลไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือและพื้นที่จังหวัดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และมีการรายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ฯ (War Room) ทราบเป็นระยะอย่างทันทีอีกด้วยการนำเทคโนโลยีการบูรณาการร่วมกับบุคลากร จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยดับไฟป่าและป้องกันการลุกลามของการเกิดไฟป่าในพื้นที่ฯได้อย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป