หน้าแรก > สังคม

กทม. คืนความปลอดภัยทางเท้า ป้องกันมอเตอร์ไซค์ขับขี่บนทางเท้าหน้า ม.สยาม ถ.เพชรเกษม

วันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 14:27 น.


(25 เม.ย. 67) นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความเรียบร้อยจุดติดตั้งเสาเอสการ์ดเพื่อแก้ปัญหาการขับขี่บนทางเท้า ณ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสยาม ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ ซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จเกือบ 100% เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดงานเล็กน้อยก็จะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานได้ตามปกติ ในการนี้ นางเยาวะสกุล ทองธัญวีรัตน์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมลงพื้นที่และนำเรียนข้อมูล

รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า วันนี้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตภาษีเจริญ ได้มาแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับการแจ้งเข้ามาผ่าน Traffy Fondue โดยปัญหาที่พบอันดับต้น ๆ ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ คือ การขับขี่และจอดบนทางเท้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรบนทางเท้า

ที่ผ่านมาทางเขตฯ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้มงวดกวดขัน จับปรับผู้กระทำผิด แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้ลดลง สังเกตได้จากสถิติการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ปีที่ผ่านมา เฉพาะเรื่องของการจอดและขับขี่บนทางเท้า พบว่ามีมากถึง 500 ราย จึงได้มีการประชุมร่วมกันในกลุ่มเขตกรุงธนใต้ พร้อมมอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตคิดนวัตกรรมที่ลดการใช้กำลังคนจับปรับ เกิดเป็นนวัตกรรมเสาเอสการ์ด ที่คนเดินบนทางเท้าสามารถเดินได้ วีลแชร์ผ่านได้ แต่มอเตอร์ไซค์จะผ่านไม่ได้ จากการทดลองดำเนินการมาระยะหนึ่ง มีเสียงตอบรับจากประชาชนในทิศทางที่ชื่นชม และสามารถลดสถิติการร้องเรียนได้ จึงมอบนโยบายให้ทำเพิ่มเติมในจุดใหญ่และให้ทำให้เห็นเป็นภาพรวมของถนนเพชรเกษม ซึ่งทางผู้อำนวยการเขตก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่น่าชื่นชมคือเป็นการดำเนินการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ แต่ใช้การบูรณาการการมีส่วนร่วมโดยภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและมีจิตสาธารณะในโซนต่าง ๆ มาช่วยกันในเรื่องของงบประมาณ การร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้มีการมอบนโยบายให้เขตใกล้เคียงมาดูตัวอย่างการดำเนินการและนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันเขตต่าง ๆ อาทิ เขตบางแค เขตหนองแขม ก็เริ่มดำเนินการติดตั้งแล้วเช่นกัน สำหรับในเบื้องต้นนี้ ได้กำหนดให้ทำถนนเพชรเกษมเป็นถนนตัวอย่าง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบาย "ถนนสวย 50 เขต" ส่วนในอนาคตอาจมีการติดตั้งกล้องที่มีระบบ AI อ่านและบันทึกป้ายทะเบียน เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ร่วมกับการปรับปรุงด้านกายภาพ

"สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิด จอดหรือขับขี่บนทางเท้า หรือปัญหาอื่นในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถถ่ายภาพและแจ้งเข้ามาผ่านไลน์ @TraffyFondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งประชาชนก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผลการดำเนินงานได้ด้วย" รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า เรื่องสวัสดิภาพของนักศึกษาและประชาชนที่ใช้ทางเท้าเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในแง่ของความปลอดภัย รวมถึงแง่ภาพลักษณ์ของเมืองด้วย ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยยินดีจะสนับสนุน โดยจะมีการประสานกับทางเขต พร้อมหารือกับคณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมดำเนินการในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป สำหรับผู้ใช้มอเตอร์ไซค์อาจจะช้าลงเพียงเล็กน้อย แต่เป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม ซึ่งเชื่อว่าหากเราสร้างวินัยที่ดี ในที่สุดเมืองก็จะดีสำหรับเราทุกคน

"ความร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา จะมองเป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกัน เมื่อพบปัญหาก็ช่วยกันแจ้งผ่าน Traffy Fondue เพื่อทำให้เมืองมีความปลอดภัยและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น" อธิการบดีฯ กล่าว

สำหรับสถิติ Traffy Fondue (เฉพาะเรื่องของการขับขี่บนทางเท้า) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 - กรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 543 เรื่อง โดยมี จุดร้องเรียนสำคัญ 8 จุด คือ ปากซอยเพชรเกษม 48 หน้าโรงพยาบาลมิตรประชา ศูนย์สรรพสินค้าซีคอน บางแค หน้าอาคารชุดเดอะลิฟวิ่ง เพชรเกษม ปากซอยเพชรเกษม 58 ปากซอยเพชรเกษม 54 ปากซอยเพชรเกษม 28/ตลาดต้นไม้ชายคา และปากซอยเพชรเกษม 42 ซึ่ง 8 จุดข้างต้น ได้มีการร้องเรียนจำนวนมากถึง 182 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 33.52 ของเรื่องทั้งหมด

โดยที่ผ่านมา เขตฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งในแง่ของการประชาสัมพันธ์ และการบังคับใช้กฎหมาย จับจริง ปรับจริง ตลอดจนมีการปรับปรุงด้านกายภาพด้วยการติดตั้งเสาเรียงหน้ากระดาน แต่ผลดำเนินการยังคงมีการร้องเรียนเข้ามาต่อเนื่อง รวมทั้งผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ได้ร้องเรียนว่าไม่สามารถสัญจรผ่านเสาเรียงหน้ากระดานที่ติดตั้งได้ เขตฯ จึงได้ประชุมหารือกัน เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ “เสากั้นเอสการ์ด” ป้องกันรถขับขี่บนทางเท้า ซึ่งจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ เสาเหล็กติดเป็นรูปตัว S และเสาสเตนเลสโค้ง โดยได้มีการทดลองใช้แล้ว พบว่าสามารถรองรับการสัญจรของรถวีลแชร์ได้ ทั้งนี้ การดำเนินการของเขตฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน ไม่ใช้งบประมาณของราชการ ส่วนการติดตั้งนั้น ใช้แรงงานเขต คือ ฝ่ายโยธาและเทศกิจ ภายหลังติดตั้งใน 8 จุดร้องเรียนสำคัญข้างต้น พบว่า สถิติ Traffy Fondue เรื่องของการขับขี่บนทางเท้าลดลง เหลือเพียง 8 เรื่อง รวมทั้งมีเรื่องเสนอแนะแจ้งให้เขตฯ ดำเนินการติดตั้งเพิ่มในจุดอื่น ๆ ด้วย โดยปัจจุบัน เขตฯ ได้ดำเนินการติดตั้งเสาเอสการ์ดแล้วทั้งสิ้น 15 จุด

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม