วันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 09:40 น.
วันที่ 25 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่กรมควบคุมโรค (คร.) มีการแถลงข่าว "เกาะติดสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เป็นปัญหา"
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคลมร้อน (Heat stroke) ช่วงเดือนมีนาคม -เมษายน 2567 เพียง 2 เดือน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย เทียบปี 2566 ช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 4 เดือนเสียชีวิต 37 ราย ปีนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า
กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กวัยทารกถึงอนุบาลเนื่องจากระบบระบายอากาศในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมถึงอาชีพเสี่ยงทั้งในกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง ทหาร ตำรวจ รปภ.
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ควรลิดกิจกรรมช่วงเวลา 11.00น.ไปจนถึง 15.00 น. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าต้องออกไปข้างนอก ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง 1-2 ชั่วโมงดื่ม 2-4 แก้ว เสียเหงื่อมากดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้น บางคนไปดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟมีคาเฟอีน การระบายความร้อนลดน้อยลง ให้หลีกเลี่ยงช่วงอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าระบายความร้อน ระบายอากาศได้ดีมีสีอ่อน
ทั้งนี้ สามารถสังเกตอาการหากหน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วใจสั่นหน้าแดง เหงื่อไม่ค่อยออก เป็นอาการเตือนความเสี่ยงฮีทสโตรก ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น รีบพาเข้าพักในที่อุณหภูมิเย็น อากาศถ่ายเท ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งปะคบตามซอกพับ หน้าผาก คลายเสื้อผ้า ดื่มน้ำถ้ายังมีสติ น้ำเย็น ถ้าไม่มีน้ำธรรมดา เพื่อระบายความร้อน ถ้าหมดสติให้รีบส่ง รพ.
“สถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นไปตามคาดที่พบมากขึ้นหลังสงกรานต์ ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ซึ่งการดูแลรักษาในส่วนของรพ.มีความพร้อมและยารักษาอย่างเพียงพอ ยังคงแนะนำป้องกันตนเองเช่นเดิม” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว
ด้านพญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า ต้นปี 2567 พบผู้ป่วยจำนวนมาก แต่แนวโน้มโดยรวมขณะนี้ลดลง กลุ่มที่พบป่วยส่วนใหญ่เด็กอายุ 0-4 ปี
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ จะเริ่มเข้าสู่การเปิดภาคเรียนและเข้าสู่ฤดูฝน จำนวนผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากอาการโรคใกล้เคียงกับโควิด-19 การป้องกันการรับเชื้อคือการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้มีอาการไม่มากควรหยุดอยู่บ้านพักรักษาตัวให้หาย โดยเฉพาะเด็กเล็ก แนะนำกลุ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ ทารก 6เดือน-1ปี ผู้สูงอายุฉีดวัคซีดป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
ส่วนโรคไข้เลือดออกพบจำนวนผู้ป่วยสูงตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้เริ่มลดลง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก แต่ก็พบในผู้ใหญ่และผู้มีโรคประจำตัวด้วย แนะนำป้องกันด้วยการนอนในมุ้งหรือติดมุ้งลวด ใช้ยาทากันยุงทั้งในผู้ป่วยและคนทั่วไป ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากมีอาการสงสัยมีไข้สูง 2-3วัน ทานยาลดไข้แล้วไม่ลดหรือมีผื่นจุดแดงขึ้นตามตัว ปวดศีรษะอ่อนเพลียให้รีบพบแพทย์
สำหรับโรคหัด ข้อมูลวันที่ 1ม.ค.-19 เม.ย.2567 พบผู้ป่วย 463 ราย ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเด็กต่ำกว่า 5 ปี สถานที่พบการระบาดส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนและชุมชน โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้พบอัตราป่วยสูงสุด เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน จึงแนะนำให้เด็กเล็กรับวัคซีนตามโปรแกรม ซึ่งการรับวัคซีนเป็นที่ยอมรับและครอบคลุมสูงในประเทศมุสลิม ซึ่งสำนักจุฬาราชมนตรีก็มีประกาศสามารถรับวัคซีนได้ไม่ขัดต่อหลักศาสนา
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน