หน้าแรก > สังคม

พล.ต.อ.อดุลย์ ปธ.กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ปาฐกถาพิเศษเสวนา 6 ทิศทาง 6 กลยุทธ์การพัฒนา “ถอดบทเรียนสู่การบริหารจัดการแรงงานที่ยั่งยืน”

วันที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 11:48 น.


วันที่ 4 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ถอดบทเรียนสู่การบริหารจัดการแรงงานที่ยั่งยืน” พร้อมกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การเสวนาและในงานเสวนาและการจัดนิทรรศการสรุปผลการดำเนินงาน “6 ทิศทาง 6 กลยุทธ์การพัฒนา ถอดบทเรียนสู่การบริหารจัดการแรงงานที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา โดยมี นายศุภชัย สมเจริญรองประธานวุฒิสภา คนที่2เป็นประธานกล่าวเปิดงาน มีผู้แทนจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนา ณ ห้องแมจิก 2 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้ดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาตั้งแต่ปี 2562 - 2567 โดยที่คณะกรรมาธิการได้มีการประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน และจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา ภายใต้ทิศทางการขับเคลื่อนของคณะกรรมาธิการอันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ หน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา สถานการณ์การแรงงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประเด็นการขับเคลื่อนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาศึกษาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และคณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา จึงมีมติให้มีการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอและเผยแพร่ผลการดำเนินงานและผลการสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งเพื่อเป็นข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้านแรงงาน และเป็นแนวทางสำหรับวุฒิสภารวมทั้งคณะกรรมาธิการการแรงงานชุดต่อไป ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์บริหารจัดการแรงงานที่ยั่งยืน ซึ่งการสัมมนาในวันนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังจากทุกภาคส่วนทั้งคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา คณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กระทรวงแรงงาน สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ จำนวน 150 คน 

ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนาในครั้งนี้จะได้นำข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้านแรงงานและเป็นแนวทางสำหรับวุฒิสภารวมทั้งคณะกรรมาธิการการแรงงานชุดต่อไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม