หน้าแรก > การเมือง

สส.ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ลงมติท่วมท้น! ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม 400 ต่อ 10 เสียง เตรียมส่งต่อวุฒิสภา พิจารณาทันที

วันที่ 27 มีนาคม. 2567 เวลา 15:15 น.


วันที่ 27 มีนาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม เข้าสู่วาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่.) พ.ศ…. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญ ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 ในมาตรา 4 กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เราทำเพื่อคนไทยทุกคน มีจำนวนทั้งหมด 68 มาตรา โดยสรุป 3 ข้อ คือ

1. กมธ.เห็นว่าบทบัญญัติของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการใช้ถ้อยคำไม่สอดดคล้องกับบริบทขอองสังคมในปัจจุบัน จึงมีการปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

2.กมธ.เห็นว่าเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสของบุคคล ควรกำหนดไว้ที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่จะทำการหมั้นหรือสมรส มีอายุพ้นจากความเป็นเด็ก และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับเด็ก รวมทั้งหลักการคุ้มมครงสิทธิเด็กในการป้องกันปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก จากการบังคังให้เด็กแต่งงาน โดยจะไปเชื่อมกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ฉบับอื่นที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่

3.กมธ.ได้เพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่จำนวน 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับนี้ มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายอื่น ที่ได้กำหนดไว้ให้แก่ "สามี ภรรยา" หรือ "สามี ภรรยาในทันที" ซึ่งจะลดภาระให้แแก่หน่วยงานต่างๆ ในการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กฎหมายฉบับใดกำหนดสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภรรยา หรือสามี ภรรยาไว้แตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จทันในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 

นอกจากนี้ กมธ.ตั้งข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้

นายดนุพร กล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทุกคนในประเทศไทย เพราะหลังจากที่ได้มีการผ่านวาระ 1 ไปแล้ว เราได้ฟังเสียงรอบด้าน และมีกรพูดคุยว่ากฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ กมธ.พิจารณาด้วยความรอบคอบ ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ชายหญิงทั่วไป ท่านเคยได้รับสิทธิ์อย่างไร ท่านจะไม่เสียสิทธิ์แม้แต่น้อย สิทธิของท่านในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ และกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่จะเรียกว่าเป็น LGBTQ ผู้ชายข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ หรืออะไรก็ตาม วันนี้ทุกสังคมไม่ว่าประเทศไทยหรือต่างประเทศ เชื่อว่าทุกคนทราบดี เราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชาย เพศหญิง อีกต่อไปแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเกิดมาเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง เขาเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเหล่านี้เขาเลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ
ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ ต้องการที่จะคืนสิทธิ์ให้คนกลุ่มนี้ เราไม่ได้ให้สิทธิ์เขา แต่เป็นสิทธิ์เบื้องต้นที่คนกลุ่มนี้เสียสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ การรักษาพยาบาล การเสียภาษี การลดหย่อนภาษีต่างๆ รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิ์แบบนี้ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ์ และตอนหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมือง บอกว่าอยากจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ

"ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียม กฎหมายฉบับไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆในการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมไทย ขอเชิญชวนสส.ทุกคนมาร่วมกันสร้างประวัติประเทศไทย เราจะเป็นประเทศที่สาม ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเซาท์ อีสท์ เอเชีย และเราจะภาคภูมิใจในเวทีโลกว่าประเทศไทยวันนี้เเห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเพศ หวังว่าวันนี้พวกเราในฐานะตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ จะร่วมสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย" นายดนุพร กล่าว

จากนั้นเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น พิจารณาเรียงรายมาตรา โดยกมธ.เสียงข้างน้อย ที่มาจากภาคประชาชน ได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก" (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลาง ๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน แต่ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของกมธ.เสียงข้างมาก

ทั้งนี้ เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสภานะ “คู่สมรส” ดังนั้น ก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่น ๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ คู่สมรส อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติครม.ใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย

จากนั้นที่ประชุมลงมติในวาระ 3 มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 400 เสียง ไม่เห็นชอบ10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วุฒิสภาชุดปัจจุบัน จะหมดวาระลงในวันที่ 11 พ.ค.นี้ แต่จะยังคงอยู่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 อาจอยู่ในช่วงรอยต่อดังกล่าว

ดังนั้น วุฒิสภา จึงได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภา ไปศึกษาความพร้อมหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพิจารณาร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน หากผ่านที่ประชุมวุฒิสภา ทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะนำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม