วันที่ 19 มีนาคม. 2567 เวลา 10:51 น.
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ย้ำ ไม่ใช่โรคที่เกิดจากเชื้ออุบัติใหม่ โดยเชื้อมีหลายสายพันธุ์ และอาจแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก ประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อนี้อยู่
วันนี้ (18 มีนาคม 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึง รายงานข่าวกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่น เร่งหาสาเหตุการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ซึ่งทางญี่ปุ่นคาดว่าอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด 19 จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีหลายสายพันธุ์ ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงมาก และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โรคดังกล่าวอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย เรียกว่า “โรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever” โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ”สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ทำให้เกิดการติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ เกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือ สัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น อาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสากๆตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้วมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5-15 ปี ที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ หรือคนที่สัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับในปีนี้ 2567 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม นอกจากก่อโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อนี้อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังที่อาจมีการลุกลามเร็วได้ ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง การติดเชื้อนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความรุนแรงของโรค รวมถึงการแยกโรคได้อย่างถูกต้อง จะช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้
“เนื่องจากการแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้เป็นทางระบบทางเดินหายใจ และการติดเชื้อนี้พบได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้นมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เช่นกัน การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก สำหรับโรคไข้อีดำอีแดงที่กลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กวัยเรียน เน้นกำชับให้ทุกโรงเรียนเน้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความสะอาด ทำความสะอาดอุปกรณ์ของใช้ และของเล่นต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ” แพทย์หญิงจุไร กล่าว
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคยังคงติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อเสตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ขอแนะนำประชาชน หากมีไข้ เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นสากนูน หรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และแยกโรคอย่างถูกต้อง การเดินทางไปต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน