หน้าแรก > สังคม

แพทย์เตือนภัย "กระดาษเมา" อันตราย ออกฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

วันที่ 6 มีนาคม. 2567 เวลา 09:58 น.


6 มีนาคม 2567 นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า "กระดาษเมา สติกเกอร์เมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ”  เป็นการนำสาร แอลเอสดี (LSD) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ออกฤทธิ์หลอนประสาท มาหยดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ (blotter paper)  มีลวดลายและสีสันต่าง ๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ มีลักษณะคล้ายแสตมป์ และนำมาอมไว้ใต้ลิ้น ซึ่งจะออกฤทธิ์ภายใน 30 - 90 นาที นาน 8 -12 ชั่วโมง สารแอลเอสดีที่อยู่ในกระดาษจะทำให้ผู้เสพรูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูงและอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น เหงื่อออก นอนไม่หลับ ปากแห้ง ตัวสั่นและเบื่ออาหาร

เมื่อเสพสารแอลเอสดีเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกจะทำให้มึนศีรษะ เห็นแสงวูบวาบ เคลิ้มสุข หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง เห็นภาพหลอน หูแว่ว ประสาทในการรับภาพและสีผิดเพี้ยนไป เห็นภาพความทรงจำในอดีต เกิดอาการหวาดกลัว บางรายอาจทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่นและอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสพสารแอลเอสดีจะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิดและการตัดสินใจ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่น หากมีการเสพเกินขนาดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า เกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน แม้จะหยุดใช้ยาแล้ว แต่อาการโรคจิตอาจเป็นซ้ำได้อีก การรักษาอาการดังกล่าวทำได้ยากและอาจต้องใช้เวลานานเพื่อให้อาการทุเลาลง

ทั้งนี้ ฝากย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวที่นิยมทดลองสารเสพติดแปลกใหม่ ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองให้มาก และพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาเสพติดทุกชนิดมีความอันตราย ส่งผลต่อร่างกายของผู้เสพ เป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม